การสอบถามหาความรู้ที่ได้มาโดยการสอบสวน") เป็นการค้นพบ ค้นหา รวบรวม จัดระเบียบและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตประวัติศาสตร์ยังอาจหมายถึงช่วงเวลาหลังมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้น นักวิชาการผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เรียกนักประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นสาขาการวิจัยซึ่งใช้การบรรยายเพื่อพิจารณาและวิเคราะห์ลำดับของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

เรื่องเล่าในพระคัมภีร์เบญจบรรณ มีความจริงทางประวัติศาสตร์เพียงไร ตามการตีความของคาทอลิก



(บทความนี้เขียนโดยนักวิชาการคาทอลิกเพื่ออธิบายวิธีการตีความหมายพระธรรม 5 เล่มแรกของพระคัมภีร์ ซึ่งก็จะเป็นการสะท้อนว่า ในการตีความหมายของคาทอลิก ถือว่าเรื่องเล่าในหนังสือปัญจบรรพ (หรือเบญจบรรณ) มีความจริงทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงไร?) ....


หนังสือเบญจบรรณ หรือปัญจบรรพ หมายถึงหนังสือ 5 เล่มแรกของพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งมักเชื่อกันว่าผู้เขียนคือท่านโมเสส ก่อนจะตอบคำถามที่ว่า เรื่องเล่าในหนังสือปัญจบรรพ (หรือเบญจบรรณ) มีความจริงทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงไร? เราต้องมาทำความเข้าใจเรืองความเป็นมาของการเรียบเรียงหนังสือปัญจบรรพเสียก่อน จึงจะตีความหมายได้อย่างถูกต้อง

ความเป็นมาของการเรียบเรียงหนังสือปัญจบรรพ


อย่างน้อยตั้งแต่ต้นคริสตกาล ประชาชนทั่วไปคิดว่าโมเสสเป็นผู้ประพันธ์หนังสือปัญจบรรพทั้งห้าเล่มนี้ พระเยซูเจ้าและบรรดาศิษย์ไม่เคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย (ยน 1 : 45; 5:45-47; รม 10:5 ) อย่างไรก็ตาม ธรรมประเพณีโบราณที่สุดไม่เคยยืนยันโดยตรงว่าโมเสสเป็นผู้เขียนหนังสือปัญจบรรพทั้งหมด แม้บางครั้ง (ซึ่งน้อยมาก) หนังสือปัญจบรรพจะใช้วลี“โมเสสเขียนว่า” แต่ก็หมายถึงเพียงข้อความสั้นๆ เท่านั้น โดยแท้จริง นักวิชาการสมัยใหม่ได้สังเกตเห็นว่าลีลาการเขียนไม่คงที่เป็นแบบเดียวกัน มีข้อความเล่าเรื่องซ้ำหรือขัดแย้งกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่หนังสือปัญจบรรพทั้งหมดจะเป็นผลงานของผู้เขียนคนเดียว นักวิชาการพยายามค้นคว้าหาคำตอบแก่ปัญหาดังกล่าวด้วยความยากลำบาก


ในที่สุด ปลายศตวรรษที่ 19 สมมติฐานข้อหนึ่งก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป สมมติฐานนี้ส่วนใหญ่เป็นผลงานของกราฟ และของเวลล์ฮาวเซน ตามทฤษฎีนี้ หนังสือปัญจบรรพเป็นผลการรวบรวมเอกสารสี่ฉบับ ซึ่งเขียนในสถานที่และเวลาต่างกัน และทั้งหมดเขียนภายหลังสมัยโมเสสนานทีเดียว ตามทฤษฎีนี้ แรกเริ่มเดิมทีมีเอกสารที่เป็นเรื่องเล่าสองฉบับ เรียกว่า “ตำนานยาห์วิสต์” (เอกสาร J ) ซึ่งใช้พระนาม “พระยาห์เวห์”ที่พระเจ้าทรงเผยให้โมเสส เรียกพระเจ้าตั้งแต่เล่าเรื่องการเนรมิตสร้าง เอกสารที่สองเรียกว่า “ตำนานเอโลฮิสต์” (เอกสาร E) เพราะเรียกพระเจ้าด้วยสามัญนามว่า “เอโลฮิม”


เอกสารยาห์วิสต์เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในอาณาจักรยูดาห์ราวศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล ส่วนเอกสารเอโลฮิสต์เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในอาณาจักรอิสราเอลหลังจากนั้นไม่นาน หลังจากที่อาณาจักรเหนือถูกทำลาย เอกสารทั้งสองฉบับนี้ถูกนำมารวมกัน (กลายเป็น JE ) ต่อมาหลังรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ “เอกสารเฉลยธรรมบัญญัติ” (เอกสาร D ) ได้ถูกต่อเติมเข้าไปกลายเป็น JED และในที่สุดหลังจากสมัยเนรเทศที่บาบิโลน “ตำนานสงฆ์” (เอกสาร P ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่มีเรื่องเล่าปนอยู่บ้างด้วย ได้ถูกต่อเติมเข้ามาอีก กลายเป็น JEDP


“ทฤษฎีเอกสาร” ในแบบดั้งเดิมผูกติดอยู่กับทฤษฎีวิวัฒนาการความคิดทางศาสนาของชาวอิสราเอล จึงไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการบางคน บางคนยอมรับโดยมีเงื่อนไขจะต้องปรับปรุงความคิดบางประการเสียก่อน โดยแท้จริงแล้วไม่มีนักวิชาการสองคนที่เห็นพ้องกันทุกประการในการตัดสินว่า ข้อความตอนไหนมาจากเอกสารใดจาก “เอกสาร” สี่ฉบับข้างต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าการค้นคว้าพิจารณาคำที่เขียนเพียงอย่างเดียวไม่พอเพื่ออธิบายว่าหนังสือปัญจบรรพถูกเขียนขึ้นอย่างไร สิ่งที่จะต้องค้นคว้าเพิ่มเติมคือรูปแบบวรรณกรรมและธรรมประเพณีทั้งปากเปล่า และเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีอยู่ก่อนการเขียนเอกสารทั้งสี่ฉบับ เอกสารแต่ละฉบับ แม้แต่ตำนานสงฆ์ที่เขียนก็ยังมีข้อมูลที่โบราณมาก


การค้นพบวรรณกรรมโบราณในภาษาที่ตายแล้วของตะวันออกกลางและข้อมูลต่างๆ จากนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ ทำให้เราสามารถรู้จักอารยธรรมเก่าแก่ของชนชาติเพื่อนบ้านของอิสราเอล แสดงว่ากฎหมายและสถาบันหลายอย่างที่กล่าวถึงในหนังสือปัญจบรรพมีความคล้ายคลึงกันกับกฎหมายและสถาบันที่มีกล่าวถึงในวรรณกรรมเหล่านั้นซึ่งเขียนไว้ก่อนที่จะมีการบันทึก“เอกสาร” ทั้งสี่ของหนังสือปัญจบรรพเสียอีก ยิ่งกว่านั้นเรื่องเล่าหลายเรื่องสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างและโบราณกว่าสภาพความเป็นอยู่เมื่อ “ เอกสาร” เหล่านี้เขียนขึ้น


การค้นพบและข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าเรื่องราวจากธรรมประเพณีต่างๆ เก็บรักษาไว้ตามสักการสถานหลายแห่ง หรือรับการถ่ายทอดต่อกันมาโดยนักเล่าเรื่องแบบชาวบ้าน เรื่องราวเหล่านี้ถูกจัดไว้ด้วยกันเป็นชุดๆ แล้วเขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อโอกาสอำนวย แต่ข้อเขียนในครั้งแรกนี้ยังไม่ตายตัว มีการเรียบเรียง ปรับปรุง ต่อเติมและนำมารวมกันเป็นหนังสือปัญจบรรพเช่นที่เรามี “แหล่งข้อมูล” ที่เป็นลายลักษณ์อักษรของหนังสือปัญจบรรพเป็นเพียงขั้นตอนพิเศษช่วงหนึ่งของ วิวัฒนาการอันยาวนานของเรื่องราวจากธรรมประเพณีต่างๆ ที่แม้จะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ก็ยังรับการปรับปรุงแก้ไขต่อไปในภายหลังอีก

ความคิดที่ว่ามีธรรมประเพณีหลายสายในการเรียบเรียงหนังสือปัญจบรรพนั้นเห็นได้ชัดในข้อความสองตอนที่เล่าเรื่องเดียวกันโดยมีรายละเอียด ทั้งที่เหมือนกันและที่ขัดแย้งกัน ผู้อ่านพระคัมภีร์จะพบเรื่องราวซ้ำเช่นนี้ตั้งแต่หน้าแรกของหนังสือปฐมกาลทีเดียว เช่นเรื่องการเนรมิตสร้างสองเรื่อง (1 : 1 – 2: 4ก และ 2:4 ข – 3:24 ) ลำดับวงศ์วานของกาอิน/เคนัน (4: 17ฯ และ 5: 12-17) เรื่องน้ำวินาศสองเรื่องซึ่งผสมกัน (บทที่ 6-8) เรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษก็มีเรื่องซ้ำกันด้วย เช่นเรื่องเล่าว่าพระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัม (บทที่ 15 และ 17) นางฮาการ์ถูกขับไล่ (บทที่ 16 และ 21) เรื่องภรรยาของบรรพบุรุษอยู่ในอันตรายในต่างแดน (สามครั้งใน 12:10-20; 20; 26:1-11 ) เรื่องโยเซฟกับบรรดาพี่น้องในบทสุดท้ายของหนังสือปฐมกาล นอกนั้นยังมีเรื่องพระเจ้าทรงเรียกโมเสสสองครั้ง (อพย 3:1 – 4:17 และ 6:2 – 7:7 ) อัศจรรย์เรื่องน้ำที่เมรีบาห์สองเรื่อง (อพย 17: 1-7 และ กดว 20:1-13 ) มีข้อความสองตอนเกี่ยวกับบทบัญญัติสิบประการ (อพย 20: 1-17 และ ฉธบ 5:6-21) ปฏิทินพิธีกรรมสี่ครั้ง (อพย 23: 14-19; 34:18-23; ลนต 23; ฉธบ 16: 1-16) และยังมีเรื่องซ้ำเช่นนี้อีกหลายเรื่อง เรายังพบข้อความที่ใช้ภาษา ลีลาการเขียนและทรรศนะความคิดใกล้เคียงกันที่สามารถรวมเข้าเป็นเรื่องต่อ เนื่องคล้ายกัน 4 กลุ่มในหนังสือปัญจบรรพ ตรงกับธรรมประเพณีทั้ง 4 สาย


จากเรื่องต่อเนื่องแต่ละกลุ่มนี้ทำให้เราสามารถสรุปและรู้ลักษณะของธรรมประเพณีแต่ละสายได้ ธรรมประเพณียาห์วิสต์ ได้ชื่อนี้เพราะใช้พระนาม “ยาห์เวห์” เรียกพระเจ้าตั้งแต่เล่าเรื่องการเนรมิตสร้างเป็นต้นไป เป็นธรรมประเพณีที่เล่าเรื่องอย่างมีชีวิตชีวาและให้รายละเอียดเป็นรูปธรรม ผู้เขียนมีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องอย่างเห็นจริงเห็นจังน่าสนใจ พยายามให้คำตอบที่ลึกซึ้งต่อปัญหาสำคัญที่มนุษย์มักจะถามตนเอง แม้ผู้เขียนจะกล่าวถึงพระเจ้าโดยใช้ลักษณะของมนุษย์ เขาก็มีจิตสำนึกที่สูงส่งมากเกี่ยวกับพระเจ้า ธรรมประเพณีนี้สรุปประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตั้งแต่การสร้างมนุษย์ชายหญิงคู่แรกเป็นเหมือนอารัมภบทของประวัติศาสตร์ของบรรดาบรรพบุรุษของชาวอิสราเอล ธรรมประเพณีนี้เริ่มมีขึ้นในแคว้นยูดาห์ และส่วนใหญ่คงจะจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรในรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน

ในข้อความที่นักวิชาการคิดว่าเป็นตำนานยาห์วิสต์เราพบว่ามีแนวความคิดคล้ายคลึงกันอีกสายหนึ่งแทรกอยู่ด้วยซึ่งมีต้นกำเนิดเดียวกัน แต่บางครั้งสะท้อนความคิดที่โบราณกว่าหรือบางครั้งแตกต่างกันด้วย ธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงเช่นนี้ได้ชื่อว่า J1 (“ตำนานยาห์วิสต์ดั้งเดิม” ) หรือ L (Lay source หรือ “ ตำนานฆราวาส” ) หรือ N (Nomadic source หรือ “ตำนานชนเร่ร่อน” ) การแยกธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งออกมาเช่นนี้มีเหตุผลสนับสนุนพอสมควร แต่เป็นเรื่องยากที่จะทราบว่าเคยมีธรรมประเพณีนี้อีกสายหนึ่งต่างหากจริงๆ หรือเป็นเพียงข้อมูลที่ผู้เขียนตำนานยาห์วิสต์ได้เสริมเข้าไปในข้อเขียนของ ตนโดยรักษาเอกลักษณ์ของข้อมูลเหล่านั้นไว้เช่นเดิม


ธรรมประเพณีเอโลฮิสต์ (เพราะใช้สามัญนาม “เอโลฮิม” เรียกพระเจ้า) แตกต่างจากธรรมประเพณียาห์วิสต์ทั้งในวิธีเขียนที่ให้รายละเอียดน้อย ไม่มีสีสันน่าสนใจ มีมาตรฐานทางศีลธรรมที่เข้มงวดมากกว่า และเน้นอย่างมากถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ธรรมประเพณีนี้ไม่เล่าประวัติศาสตร์ของโลกและมนุษยชาติ แต่เริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่สมัยของอับราฮัมเป็นต้นมา ธรรมประเพณีนี้อาจได้เขียนขึ้นภายหลังธรรมประเพณียาห์วิสต์ไม่นาน นักวิชาการมักจะคิดว่าเป็นธรรมประเพณีของชนเผ่าในอาณาจักรเหนือ (อิสราเอล) นักวิชาการบางคนไม่ยอมรับว่ามีธรรมประเพณีเอโลฮิสต์แยกจากธรรมประเพณียา ห์วิสต์ และอธิบายว่าข้อความเหล่านี้เป็นเพียงการต่อเติมหรือการเรียบเรียงปรับปรุงธรรมประเพณียาห์วิสต์เท่านั้น ถึงกระนั้นเรื่องร่างต่างๆ ตั้งแต่อับราฮัมจนถึงมรณกรรมของโมเสสมีถิ่นกำเนิดต่างกัน การเล่าเหตุการณ์ซ้ำกันบ่อยๆ โดยมีรายละเอียดทั้งที่เหมือนและไม่เหมือนชวนให้คิดว่าจะต้องมีธรรมประเพณี อีกสายหนึ่งโดยเฉพาะที่แตกต่างจากธรรมประเพณียาห์วิสต์ ธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งนี้ต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วด้วย


อย่างไรก็ตาม เราต้องระลึกถึงข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งไว้เสมอ แม้ว่าธรรมประเพณียาห์วิสต์และเอโลฮิสต์มีลักษณะต่างกัน แต่ก็เล่าเรื่องเดียวกันในสาระสำคัญ ธรรมประเพณีทั้งสองนี้จึงน่าจะมีต้นกำเนิดเดียวกัน บรรดาเผ่าทางใต้และทางเหนือล้วนมีธรรมประเพณีร่วมกันที่มาจากความทรงจำของ ประชากรที่เคยมีประวัติศาสตร์เดียวกัน ได้แก่ การระลึกถึงบรรพบุรุษสามคน อับราฮัม อิสอัคและยาโคบ ตามลำดับเดียวกัน ระลึกถึงการอพยพจากประเทศอียิปต์ไปถึงการสำแดงพระองค์ของพระเจ้าที่ภูเขาซีนาย ระลึกถึงการทำพันธสัญญาที่ภูเขาซีนายจนถึงการเข้ายึดครองตั้งถิ่นฐานทางฝั่ง ตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนการเข้ายึดครองแผ่นดินแห่ง พระสัญญา ธรรมประเพณีร่วมกันนี้เริ่มขึ้นโดยการเล่าปากเปล่า และอาจเขียนไว้บ้างก็ได้ในสมัยผู้วินิจฉัย คือเมื่ออิสราเอลกำลังเริ่มมีความเป็นอยู่เป็นชนชาติหนึ่ง

ธรรมประเพณียาห์วิสต์และเอโลฮิสต์มีข้อความที่เป็นกฎหมายน้อยมาก ยกเว้น “ ประมวลกฎหมายแห่งพันธสัญญา” ซึ่งเราจะกล่าวถึงในภายหลัง แต่ธรรมประเพณีสงฆ์จะมีกฎหมายเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งกำหนดระเบียบการเกี่ยวกับสักการสถาน การถวายบูชาและวันฉลองทางศาสนา กล่าวถึงคุณสมบัติและหน้าที่สมณะของอาโรนและบุตรหลาน นอกจากข้อความเกี่ยวกับกฎหมายและสถาบัน ธรรมประเพณีสงฆ์ยังเล่าเรื่องที่จงใจเขียนขึ้นเพื่ออธิบายปัญหาทางกฎหมายและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของธรรมประเพณีนี้ นอกจากความสนใจในปัญหาดังกล่าวแล้ว ธรรมประเพณีสงฆ์ยังชอบกล่าวถึงจำนวนเลขและลำดับวงศ์วาน ศัพท์ที่ใช้และวิธีเขียนโดยทั่วไปมักเป็นนามธรรมและใช้คำขยายฟุ่มเฟือย ทำให้เห็นง่ายว่าข้อความใดมาจากธรรมประเพณีนี้ ธรรมประเพณีสงฆ์เป็นธรรมประเพณีของบรรดาสมณะในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม รักษาเรื่องราวโบราณ แต่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเพียงระหว่างการเนรเทศที่บาบิโลนเท่านั้น และไม่ได้รวมเข้ากับธรรมประเพณีอื่นในหนังสือปัญจบรรพจนกระทั่งกลับจากเนรเทศแล้ว เราสามารถพบว่าธรรมประเพณีนี้ได้รับการเรียบเรียงปรับปรุงหลายครั้ง เป็นการยากที่จะตัดสินว่าธรรมประเพณีสงฆ์นี้เคยเป็นผลงานทางวรรณกรรมชิ้นหนึ่งต่างหาก หรือว่ามีสมณะคนหนึ่งหรือหลายคนที่ได้เสริมข้อมูลจากธรรมประเพณีนี้เข้ากับตำนานยาห์วิสต์/เอโลฮิสต์ที่มีอยู่แล้วทำให้เกิดหนังสือปัญจบรรพดังที่เรามี ในปัจจุบัน นักวิชาการส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างหลังนี้


ในหนังสือปฐมกาล เราสามารถแยกเรื่องราวต่อเนื่องของธรรมประเพณีแต่ละสาย คือตำนานยาห์วิสต์ ตำนานเอโลฮิสต์ และตำนานสงฆ์ได้โดยไม่ยากนัก ในหนังสือปัญจบรรพอื่นๆ หลังจากหนังสือปฐมกาลเราสามารถแยกตำนานสงฆ์ออกได้ง่ายโดยเฉพาะตอนปลายของหนังสืออพยพ ในหนังสือเลวีนิติทั้งเล่มและในส่วนใหญ่ของหนังสือกันดารวิถี แต่เป็นการยากจะตัดสินว่าข้อความที่เหลือส่วนใดเป็นของตำนานยาห์วิสต์และส่วนใดเป็นของตำนานเอโลฮิสต์ ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติเราไม่พบตำนานทั้งสามนี้อีกต่อไป แต่พบธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งคือตำนานเฉลยธรรมบัญญัติ ยกเว้นบทที่ 31-32 ตำนานเฉลยธรรมบัญญัติมีลักษณะเฉพาะของตน ลีลาการเขียนสังเกตได้ง่ายเพราะใช้สำนวนโวหารรุ่มร่ามและเร้าใจคล้ายบทเทศน์ มีสูตรเฉพาะที่ซ้ำบ่อยๆ และย้ำคำสอนเดียวกันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าพระเจ้าทรงเลือกชาวอิสราเอลจากนานาชาติในโลกให้เป็นประชากรของพระองค์โดยไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากความรัก แต่การเลือกสรรและพันธสัญญาที่รับรองการเลือกสรรนี้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าอิสราเอลจะต้องมีความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแต่พระองค์เดียว ต้องนมัสการพระองค์ในสักการสถานเพียงแห่งเดียวตามกฎเกณฑ์ที่ทรงบัญชาไว้ ตำนานเฉลยธรรมบัญญัติเป็นจุดสุดยอดของธรรมประเพณีที่มีความสัมพันธ์กับธรรม ประเพณีเอโลฮิสต์ และกับขบวนการของบรรดาประกาศก อิทธิพลของธรรมประเพณีเฉลยธรรมบัญญัตินี้เห็นได้แล้วในข้อความค่อนข้างโบราณ เป็นไปได้ว่าสาระสำคัญของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติบันทึกธรรมประเพณีของชาวอิสราเอลในอาณาจักรเหนือและชนเผ่าเลวีนำเข้ามาในอาณาจักรยูดาห์หลังจากกรุง สะมาเรียถูกทำลาย ประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติซึ่งอาจมีคำปราศรัยของโมเสสเป็นกรอบอยู่แล้วถูก เก็บไว้ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ต่อมาในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์จะมีผู้ค้นพบ และเมื่อประกาศใช้จะเป็นหลักการในการปฏิรูปทางศาสนาในสมัยนั้น ประมวลกฎหมายฉบับนี้ได้รับการเรียบเรียงขึ้นใหม่ในตอนแรกของการถูกเนรเทศที่ บาบิโลน

หนังสือปัญจบรรพค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นขั้นตอนจากธรรมประเพณีต่างๆ หลายสายที่กล่าวนี้ แต่เราไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนของขั้นตอนต่างๆ นี้ได้ ธรรมประเพณียาห์วิสต์และเอโลฮิสต์น่าจะรวมเข้าด้วยกันในอาณาจักรยูดาห์ใน ศตวรรษสุดท้ายของสมัยมีกษัตริย์ปกครอง อาจจะเป็นในรัชสมัยของกษัตริย์เฮเซคียาห์ เพราะเราทราบจาก สภษ 25 : 1 ว่าในเวลานั้นมีการรวบรวมงานวรรณกรรมโบราณต่างๆ ไว้ด้วยกัน ต่อมาก่อนที่ชาวอิสราเอลกลับจากเนรเทศ หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติที่คิดกันว่าเป็นประมวลกฎหมายซึ่งโมเสสประกาศไว้ ณ ที่ราบโมอับ ถูกแทรกเข้าไว้ตอนท้ายหนังสือกันดารวิถีก่อนเรื่องราวเกี่ยวกับการมอบอำนาจ หน้าที่แก่โยชูวาและมรณกรรมของโมเสส (ฉธบ 31 และ 34) ต่อมาไม่นาน บรรดาสมณะอาจเสริมตำนานสงฆ์เข้ามาอีกด้วย หรืออาจได้เรียบเรียงหนังสือปัญจบรรพทั้งหมดเป็นครั้งแรก เราไม่ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไรแน่ แต่เรามั่นใจว่า “ธรรมบัญญัติของโมเสส” ที่เอสรานำกลับมาจากบาบิโลนนั้นคือหนังสือปัญจบรรพทั้งหมดเกือบจะเหมือนกับที่เรามีในปัจจุบัน


ความสัมพันธ์ระหว่างหนังสือปัญจบรรพกับหนังสือพระคัมภีร์ฉบับที่ ตามมาทำให้เกิดสมมติฐานสองทฤษฎีที่ขัดกัน ตั้งแต่นานมาแล้วนักวิชาการมักจะเสนอทฤษฎี “ฉบรรพ” (อ่านว่า“ฉอ-บับ” ) หมายความว่าหนังสือหกเล่มแรก ของพระคัมภีร์ (คือ ปัญจบรรพรวมกับ ยชว และตอนต้นของ วนฉ) มีความต่อเนื่องเป็นชุดเดียวกัน ทั้งนี้เพราะพบว่าตำนานทั้งสามสาย ( J, E และ P ) ยังมีอยู่ต่อไปใน ยชว และตอนต้นของ วนฉ อีกด้วย นอกจากนั้นนักวิชาการเหล่านี้ยังอ้างว่าความคิดเรื่อง “พระสัญญา” ที่พบได้บ่อยๆ ในเรื่องราวของหนังสือปัญจบรรพยังเล่าให้เห็นว่าพระสัญญานั้นเป็นความจริงอย่างไร คือเล่าการเข้ายึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญาด้วย ตามทฤษฎีนี้ หนังสือโยชูวาซึ่งแต่เดิมเป็นเล่มสุดท้ายของ “ฉบรรพ” ถูกแยกออกมาในภายหลัง เป็นหนังสือเล่มแรกของภาคประวัติศาสตร์


แต่ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งไม่นานมานี้เสนอทฤษฎี “จตุรบรรพ” คือ ปฐก อพย ลนต และ กดว เท่านั้นรวมเป็นหนังสือชุดเดียวกันโดยไม่มี ฉธบ ตามทฤษฎีนี้ ฉธบ ตั้งแต่แรกเริ่มเขียนขึ้นเป็นบทนำของ “ประวัติศาสตร์เฉลยธรรมบัญญัติ” ที่รวมหนังสือต่างๆ จนถึงหนังสือพงศ์กษัตริย์ ต่อมาหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติถูกแยกออกจากหนังสือชุดประวัติศาสตร์นี้ เพราะต้องการจะรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับบุคลิกและกิจการของโมเสสเข้าไว้ในหนังสือชุดเดียวกัน ซึ่งได้แก่หนังสือปัญจบรรพดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน


เรามีความเห็นคล้อยตามทฤษฎีที่สองนี้โดยมีข้อแม้บางประการซึ่งเราจะอธิบายใน “ความรู้เกี่ยวกับหนังสือประวัติศาสตร์เฉลยธรรมบัญญัติ” และจะใช้เป็นหลักในการอธิบายเชิงอรรถบางข้อ กระนั้นก็ดี ทฤษฎี “จตุรบรรพ” นี้เป็นเพียงความเห็นที่ต่างกันเช่นเดียวกับทฤษฎี “ฉบรรพ” เท่านั้น


เราจึงไม่สามารถทราบอย่างแน่ชัดเลยว่าหนังสือปัญจบรรพเขียนขึ้นอย่างไร กระบวนการเขียนใช้เวลาอย่างน้อยหกร้อยปี และสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของชาวอิสราเอลทั้งด้านบ้านเมืองและ ด้านศาสนา แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการนี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกัน เรากล่าวไว้แล้วว่าธรรมประเพณีต่างๆ ที่เป็นเรื่องเล่าเริ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ชาวอิสราเอลมีจิตสำนึกเป็นชนชาติเดียวกัน เราอาจกล่าวเช่นเดียวกันเกี่ยวกับข้อความที่เป็นกฎหมายซึ่งรวมทั้งกฎหมาย บ้านเมืองและศาสนาที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนที่ใช้กฎหมายเหล่านี้ แต่กฎหมายเหล่านี้ได้เริ่มมีมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณตั้งแต่เริ่มมีประชาชนนั่นเอง การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของกฎหมายเหล่านี้มีพื้นฐานในศาสนาได้แก่ความเชื่อในพระยาห์เวห์ที่ทำให้เผ่าต่างๆ รวมเข้าเป็นชนชาติเดียวกัน และความเชื่อเดียวกันนี้ทำให้ธรรมประเพณีสายต่างๆ รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวเช่นกัน

โมเสสเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการก่อตั้งศาสนาที่นับถือพระยาห์เวห์เป็นพระเจ้า โมเสสได้สั่งสอนประชาชนให้เข้ามานับถือศาสนานี้และเป็นคนแรกที่ออกกฎหมายให้ ประชาชนปฏิบัติ ธรรมประเพณีโบราณเกี่ยวกับเขาและเรื่องราวซึ่งระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเขาเป็นผู้นำจึงรวมเข้าด้วยกันและกลายเป็นตำนานประจำชาติ ศาสนาของโมเสสได้ปั้นความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาไว้เป็นมรดกของชาติ กฎหมายของโมเสสก็เป็นมาตรฐานถาวรของชาติด้วย การปรับปรุงแก้ไขซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามสภาพการณ์ใหม่ๆ จึงดำเนินไปตามความคิดของโมเสสและมีผลบังคับโดยอำนาจของเขา


ไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่อย่างใดถ้าเราไม่สามารถบอกได้ชัดว่าข้อเขียนตอนใดในหนังสือปัญจบรรพเป็นของโมเสส เพราะเขาเป็นพระเอกของหนังสือปัญจบรรพ และธรรมประเพณีของชาวยิวมีเหตุผลสนับสนุนเต็มที่ที่จะเรียกหนังสือปัญจบรรพว่าเป็นหนังสือธรรมบัญญัติของโมเสส

เรื่องเล่าในหนังสือปัญจบรรพ (หรือเบญจบรรณ)

มีความจริงทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงไร?


การเรียกร้องให้เรื่องเล่าตามธรรมประเพณีต่างๆ เหล่านี้มีรายละเอียดชัดเจนแน่นอนดังที่นักประวัติศาสตร์สมัยนี้เรียกร้อง นับว่าไม่สมเหตุสมผล ธรรมประเพณีเหล่านี้ไม่ใช่เอกสารที่ตายแล้วแต่เป็นมรดกที่มีชีวิตของชนชาติ ซึ่งมีธรรมประเพณีเหล่านี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตสำนึกในความเป็นหนึ่ง เดียวและส่งเสริมความเชื่อทางศาสนา การปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเรื่องเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือทางประวัติศาสตร์ เพียงเพราะขาดรายละเอียดชัดเจนแน่นอนก็ไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน


เราจะต้องแยกพิจารณาสิบเอ็ดบทแรกของหนังสือปฐมกาลต่างหาก บทเหล่านี้ใช้วิธีเล่าแบบชาวบ้านบรรยายถึงต้นกำเนิดของมนุษยชาติ ใช้วิธีเขียนที่เรียบง่ายให้รายละเอียดเป็นรูปธรรม เหมาะสำหรับคนโบราณที่ไม่มีการศึกษาสูงนัก และประกาศความจริงหลักซึ่งเป็นพื้นฐานของประวัติศาสตร์แห่งความรอด

ความจริงเหล่านี้คือ พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างทุกอย่างในปฐมกาล พระองค์ทรงมีบทบาทพิเศษในการสร้างมนุษย์ชายหญิง มนุษยชาติมีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน มนุษย์คู่แรกทำบาปจึงตกอยู่ในสภาพสูญเสียความโปรดปรานของพระเจ้าและถูกลงโทษ โดยที่ลูกหลานจะต้องรับผลของบาปเป็นมรดก ความจริงทั้งหมดนี้มีความสำคัญทางคำสอนด้านเทววิทยาและมีพระคัมภีร์เป็น เอกสารรับรอง ในเวลาเดียวกันยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงด้วย แม้ว่าเราไม่สามารถทราบและอธิบายลักษณะแท้จริงของเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะพระคัมภีร์ใช้ภาษาของตำนานเทพที่เหมาะกับความคิดของคนสมัยโบราณที่เล่า เรื่องถ่ายทอดความจริงเหล่านี้แก่เรา


ตั้งแต่บทที่ 12 หนังสือปฐมกาลเล่าประวัติศาสตร์ของบรรดาบรรพบุรุษโดยที่เรื่องราวส่วนใหญ่ เป็นประวัติครอบครัว คือเป็นเรื่องราวที่ชาวบ้านเล่าถ่ายทอดสืบต่อกันมาเกี่ยวกับอับราฮัม อิสอัค ยาโคบและโยเซฟ เรื่องเหล่านี้ยังเป็นประวัติศาสตร์แบบชาวบ้าน ชอบเล่าเรื่องน่าสนใจส่วนตัวของบุคคล ให้รายละเอียดเฉพาะตัวที่น่าจดจำโดยไม่มีความพยายามจะแสดงความสัมพันธ์ที่ เรื่องราวเหล่านี้มีกับประวัติศาสตร์สากลของโลก เรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษคนใดคนหนึ่งอาจเคยเล่ามาก่อนถึงบรรพบุรุษอีกคนหนึ่งแล้ว และรายละเอียดทางประวัติศาสตร์อื่นๆ อาจเลอะเลือนไปในการถ่ายทอดสืบต่อกันมาทางปากเปล่า ในที่สุดเรื่องราวเหล่านี้ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นโดยมีทรรศนะทางศาสนา คือพยายามแสดงว่าเหตุการณ์สำคัญที่เล่าถึงนั้นเกิดขึ้นโดยมีพระเจ้าทรงเข้า แทรกแซง เราสามารถเห็นพระญาณเอื้ออาทรได้ในทุกเหตุการณ์


ทรรศนะทางเทววิทยาเช่นนี้มองข้ามบทบาทของสาเหตุระดับรอง คือสาเหตุตามธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ยิ่งกว่านั้นผู้เขียนชอบรวมเรื่องราวที่เกิดขึ้นไว้ด้วยกันเพื่ออธิบายความ หมายพร้อมกัน เป็นการพิสูจน์แนวคิดทางศาสนาที่ว่ามีพระเจ้าพระองค์เดียว พระองค์ทรงอบรมประชากรหนึ่งเดียว ทรงมอบแผ่นดินหนึ่งเดียวแก่ประชากรนี้ พระเจ้าพระองค์นี้คือพระยาห์เวห์ ประชากรนี้คือชาวอิสราเอลและแผ่นดินนี้คือแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์

ถึงกระนั้นเรื่องเล่าต่างๆ นี้เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ในแง่ที่ว่ากล่าวโดยวิธีของตนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง บรรยายอย่างน่าเชื่อถือถึงที่มาและการโยกย้ายถิ่นฐานของบรรดาบรรพบุรุษของ ชาวอิสราเอล ถึงภูมิหลังทางภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ ถึงวิธีดำเนินชีวิตทั้งด้านศีลธรรมและทางศาสนา


ในอดีตเรามักจะสงสัยว่าเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ในสมัยนี้การค้นพบของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีในสถานที่ต่างๆ ของดินแดนทางตะวันออกกลางทำให้ข้อสงสัยดังกล่าวตกไป เหตุการณ์ที่เล่าในหนังสืออพยพและกันดารวิถี และที่มีกล่าวพาดพิงถึงในบทแรกๆ ของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติเป็นการเล่าประวัติศาสตร์สมัยหลังบรรดาบรรพบุรุษหลายศตวรรษทีเดียว เริ่มต้นโดยเล่าการเกิดของโมเสสและจบลงด้วยการตายของเขา เหตุการณ์ที่เล่าไว้คือการอพยพจากประเทศอียิปต์ การหยุดพักที่ภูเขาซีนาย การเดินทางในถิ่นทุรกันดารถึงคาเดช การเดินทางผ่านฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนและเข้าพำนัก ณ ที่ราบโมอับ


ถ้าเราไม่ยอมรับว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริง และไม่ยอมรับว่าโมเสสมีตัวตนจริงดังที่พระคัมภีร์บอก เราจะไม่สามารถอธิบายประวัติศาสตร์ของอิสราเอลที่ตามมาหลังจากนั้น ทั้งไม่สามารถอธิบายความยึดมั่นของชาวอิสราเอลต่อศาสนาของพระยาห์เวห์และต่อธรรมบัญญัติได้ ในเวลาเดียวกันเราต้องยอมรับว่าเรื่องราวที่บันทึกไว้นี้มีความสำคัญมากต่อชีวิตของประชากรอิสราเอลและมีบทบาทในศาสนพิธีจนทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้มีลักษณะเป็นตำนานประจำชาติ (เช่นเรื่องการข้ามทะเลต้นกก) และบางครั้งเป็นพิธีกรรมประจำปี (เช่นการฉลองปัสกา) เราไม่มีข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับโมเสสนอกจากพระคัมภีร์ แต่เมื่ออิสราเอลเป็นประชากรชาติหนึ่งแล้วก็เข้าสู่ประวัติศาสตร์โลก แม้ว่าเราไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้นอกจากการกล่าวพาดพิงไม่ชัดเจนในศิลาจารึกของพระเจ้าฟาโรห์ เมร์เนปทาห์ แต่สิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวถึงชาวอิสราเอลก็สอดคล้องอย่างกว้างขวางกับข้อเขียนและข้อมูลทางโบราณคดีซึ่งกล่าวถึงชาวเซมีติคกลุ่มต่างๆ เข้ารุกรานประเทศอียิปต์ กล่าวถึงระบบปกครองของชาวอียิปต์ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ และสถานการณ์ทางการเมืองในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน


หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่คือทดสอบข้อมูลจากพระคัมภีร์เหล่านี้กับ ข้อเท็จจริงที่เราทราบจากประวัติศาสตร์สากล แม้เราจะมีข้อมูลน้อยมากทั้งจากพระคัมภีร์และจากหลักฐานอื่นๆ ว่าเหตุการณ์ที่พระคัมภีร์กล่าวถึงเกิดขึ้นเมื่อไร เราก็พอจะกล่าวได้ว่าอับราฮัมมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินคานาอันราวปี 1850 ก่อนคริสตกาล โยเซฟมีตำแหน่งสูงในประเทศอียิปต์ราวปี 1700 ก่อนคริสตกาล และ “ บุตรอื่นๆ ของยาโคบ” อพยพลงไปสมทบกับเขาที่นั่นไม่นานหลังจากนั้น ในปัจจุบันนี้นักวิชาการดูเหมือนจะมีข้อมูลแน่นอนว่าไม่ใช่ชาวฮีบรูทุกเผ่า ได้อพยพไปอยู่ในประเทศอียิปต์ (ดู “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือโยชูวา” )


เราไม่อาจใช้ข้อมูลจาก 1 พกษ 6 : 1 และ วนฉ 11: 26 เพื่อกำหนดเวลาของการอพยพจากประเทศอียิปต์ได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้เขียนขึ้นในภายหลังและเป็นเพียงการคาดคะเนโดยใช้ตัวเลข เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น แต่พระคัมภีร์ก็มีข้อมูลสำคัญข้อหนึ่ง ตามข้อความโบราณใน อพย 1: 11 ชาวฮีบรูถูกเกณฑ์ให้ทำงานก่อสร้างเมืองเก็บเสบียงที่ปิโธมและราเมเสส ดังนั้น การอพยพน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ พระเจ้าฟาโรห์รามเสสที่ 2 ทรงครองราชย์ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ก่อตั้งเมืองราเมเสสนี้ตามพระนามของพระองค์ การก่อสร้างขนาดใหญ่เริ่มต้นที่นั่นตอนต้นรัชกาลของพระองค์ ดังนั้นกลุ่มชาวฮีบรูที่มีโมเสสเป็นผู้นำออกจากประเทศอียิปต์น่าจะอพยพออกมาตอนต้นหรือกลางรัชกาลอันยาวนี้ (1290-1224) คือราวปี 1250 ก่อนคริสตกาล หรือก่อนนั้นไม่นาน ผู้อพยพครั้งนี้น่าจะเป็นเพียงชาวฮีบรูกลุ่มหนึ่งในหลายกลุ่มซึ่งเดินทางจากประเทศอียิปต์เข้าไปในแผ่นดินคานาอันในช่วงเวลานั้น และต่อมาได้รวมตัวกันเป็น “ สิบสองเผ่า” ของอิสราเอล พระคัมภีร์เล่าว่าชาวอิสราเอล เดินทางในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วอายุคน การตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนจึงน่าจะเกิดขึ้นราวปี 1225 ก่อนคริสตกาล


การกำหนดเวลาเช่นนี้สอดคล้องกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์สากล เช่น กษัตริย์ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่ 19 ทรงสถาปนาราชธานีอยู่ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ อำนาจปกครองของชาวอียิปต์เหนือ แคว้นซีเรียและปาเลสไตน์อ่อนกำลังลงตอนปลายรัชสมัยพระเจ้าฟาโรห์รามเสสที่ 2 และสถานการณ์ทางการเมืองทั่วบริเวณตะวันออกกลางตอนปลายศตวรรษที่ 13 ก่อนคริสตกาลมีแต่ความวุ่นวาย การกำหนดเวลาเช่นนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลทางโบราณคดีเกี่ยวกับยุคเหล็กตอนต้น ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ชาวอิสราเอลเข้าตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินคานาอันอีกด้วย

ความหมายทางศาสนาของหนังสือปัญจบรรพ


ศาสนาของพันธสัญญาเดิม เช่นเดียวกับศาสนาของพันธสัญญาใหม่เป็นศาสนาที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ กล่าวคือเป็นศาสนาที่ขึ้นอยู่กับการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์และแผนการ ของพระองค์แก่ปัจเจกบุคคลบางคนในเวลาและสภาพแวดล้อมที่เจาะจง พระองค์ทรงเข้าแทรกแซงในช่วงเวลาที่เจาะจงของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หนังสือปัญจบรรพเล่าเรื่องความเป็นมาของความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับโลก เป็นเหมือนศิลารากฐานของศาสนายิว หนังสือเล่มนี้จึงนับว่าเป็น “ ธรรมบัญญัติ” หรือหนังสือบรรทัดฐานของศาสนายูดายในภายหลัง


ในหนังสือปัญจบรรพชาวอิสราเอลพบความหมายของชะตากรรมของตน ในบทแรกๆ ของหนังสือปฐมกาลเขาไม่พบเพียงคำตอบปัญหาต่างๆ ที่มนุษย์ทุกคนถามตนเองเกี่ยวกับความหมายของโลกและของชีวิต ปัญหาเรื่องความทุกข์และความตายเท่านั้น แต่ยังพบคำตอบสำหรับปัญหาเฉพาะของตนในฐานะที่เป็นชาวอิสราเอลว่าทำไมพระ ยาห์เวห์ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวจึงทรงเป็นพระเจ้าของอิสราเอล ทำไมในบรรดาชนชาติทั้งหลายในโลก อิสราเอลเท่านั้นจะต้องเป็นประชากรของพระองค์ และคำตอบก็คือเพราะอิสราเอลได้รับพระสัญญาจากพระเจ้า


หนังสือปัญจบรรพเป็นหนังสือว่าด้วยพระสัญญา คือพระสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่อาดัมและ เอวาหลังจากที่ทั้งสองตกในบาปแล้ว (นับเป็น “ ข่าวดีชิ้นแรก” เรื่องความรอดพ้นที่จะมาถึงในอนาคต หรือ “Proto-evangelium” ) พระสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่โนอาห์หลังน้ำวินาศว่าพระองค์จะทรงจัดระเบียบ ใหม่ของโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่อับราฮัม พระองค์ทรงรื้อฟื้นพระสัญญานี้แก่อิสอัค ยาโคบและบรรดาลูกหลานทั้งปวง พระสัญญานี้กล่าวว่าชาวอิสราเอลจะเป็นเจ้าของแผ่นดินที่บรรดาบรรพบุรุษเคย อาศัยอยู่ คือแผ่นดินแห่งพระสัญญา แต่ยังมีความหมายมากกว่านี้คือทรงสัญญาว่าจะมีความสัมพันธ์พิเศษโดยเฉพาะ ระหว่างชาวอิสราเอลกับพระเจ้าของบรรดาบรรพบุรุษ


พระยาห์เวห์ทรงเรียกอับราฮัม และการเรียกนี้เป็นเครื่องหมายล่วงหน้าว่าพระองค์จะทรงเลือกอิสราเอลในภาย หลังตั้งแต่ทรงเนรมิตสร้างโลกแล้วพระยาห์เวห์ทรงมีแผนการแสดงความรักของ พระองค์ต่อมนุษย์และแผนการนี้ดำเนินต่อไปแม้มนุษย์จะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ พระองค์ทรงเลือกอย่างอิสระ ให้ลูกหลานของอับราฮัมเป็นชนชาติหนึ่ง และทรงทำให้ชนชาตินี้เป็นชนชาติของพระองค์

การที่พระเจ้าทรงเลือกสรรและทรงสัญญาเช่นนี้ได้รับการรับรองด้วย พันธสัญญา หนังสือ ปัญจบรรพเป็นหนังสือว่าด้วยพระสัญญา ในเวลาเดียวกันยังเป็นหนังสือว่าด้วยพันธสัญญาเช่นกัน พระองค์ทรงทำพันธสัญญาเป็นนัยๆ แล้วกับอาดัม ทรงทำพันธสัญญาอย่างชัดเจนกับโนอาห์ กับอับราฮัม และในที่สุดกับชนชาติอิสราเอลทั้งหมดโดยมีโมเสสเป็นคนกลาง พันธสัญญานี้ไม่ใช่ข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาเท่าเทียมกัน เพราะพระเจ้าไม่ทรงมีความจำเป็นต้องทำข้อตกลงกับผู้ใด พันธสัญญาจึงเกิดจากการริเริ่มของพระองค์เท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงเข้าร่วมพันธสัญญาโดยทรงผูกมัดพระองค์ที่จะปฏิบัติ ตามพระสัญญาที่ทรงให้ไว้ แต่พระองค์ก็ทรงเรียกร้องความซื่อสัตย์จากประชากรของพระองค์เป็นการตอบแทน สำหรับอิสราเอลบาปคือการปฏิเสธไม่ยอมซื่อสัตย์ต่อพระองค์ เป็นการละเมิดความสัมพันธ์ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นด้วยความรักบริสุทธิ์ของ พระองค์


เราจะต้องแยกพิจารณาสิบเอ็ดบทแรกของหนังสือปฐมกาลต่างหาก บทเหล่านี้ใช้วิธีเล่าแบบชาวบ้านบรรยายถึงต้นกำเนิดของมนุษยชาติ ใช้วิธีเขียนที่เรียบง่ายให้รายละเอียดเป็นรูปธรรม เหมาะสำหรับคนโบราณที่ไม่มีการศึกษาสูงนัก และประกาศความจริงหลักซึ่งเป็นพื้นฐานของประวัติศาสตร์แห่งความรอด

ความจริงเหล่านี้คือ พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างทุกอย่างในปฐมกาล พระองค์ทรงมีบทบาทพิเศษในการสร้างมนุษย์ชายหญิง มนุษยชาติมีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน มนุษย์คู่แรกทำบาปจึงตกอยู่ในสภาพสูญเสียความโปรดปรานของพระเจ้าและถูกลงโทษ โดยที่ลูกหลานจะต้องรับผลของบาปเป็นมรดก ความจริงทั้งหมดนี้มีความสำคัญทางคำสอนด้านเทววิทยาและมีพระคัมภีร์เป็น เอกสารรับรอง ในเวลาเดียวกันยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงด้วย แม้ว่าเราไม่สามารถทราบและอธิบายลักษณะแท้จริงของเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะพระคัมภีร์ใช้ภาษาของตำนานเทพที่เหมาะกับความคิดของคนสมัยโบราณที่เล่า เรื่องถ่ายทอดความจริงเหล่านี้แก่เรา


พระเจ้าทรงออกกฎหมายสำหรับชนชาติที่ทรงเลือกสรรเป็นการกำหนด เงื่อนไขให้ชาวอิสราเอลแสดงความซื่อสัตย์ต่อพระองค์ ธรรมบัญญัตินี้ของพระองค์สั่งสอนประชากรให้รู้จักหน้าที่ของตน ให้รู้จักประพฤติตนตามพระประสงค์และการปฏิบัติตามพันธสัญญานี้จะทำให้พระสัญญาเป็นความจริงสำหรับเขา พระสัญญา การเลือกสรร พันธสัญญา ธรรมบัญญัติทั้งหมดนี้เป็นความคิดหลักของหนังสือปัญจบรรพเปรียบได้กับดิ้นทองที่ทอขึ้นเป็นผืนผ้าประเสริฐ เป็นความคิดหลักที่เราพบได้อีกในหนังสืออื่นของพันธสัญญาเดิม เพราะหนังสือปัญจบรรพไม่จบบริบูรณ์ในตัวเอง กล่าวถึงพระสัญญาแต่ยังไม่แสดงว่าพระสัญญานี้เป็นความจริงได้อย่างไร เพราะเรื่องราวจบลงก่อนจะเล่าว่าชาวอิสราเอลเข้ายึดครองแผ่นดินแห่งพันธ สัญญา หนังสือปัญจบรรพเล่าเรื่องไม่จบเพราะต้องการปลุกทั้งความหวังและความมุ่ง มั่น ต้องการปลุกความหวังในพระสัญญาซึ่งการเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอันจะทำให้เป็น ความจริง (ยชว 23) แต่บาปของประชากรจะเป็นอุปสรรคมิให้บรรลุถึงจุดหมายนี้ และการเนรเทศที่บาบิโลนจะทำให้ชาวอิสราเอลระลึกถึงพระสัญญานี้อีกครั้งหนึ่ง หนังสือปัญจบรรพยังปลุกความมุ่งมั่นเพราะชาวอิสราเอลทุกสมัยจะต้องปฏิบัติ ตามธรรมบัญญัติอย่างถี่ถ้วน และธรรมบัญญัตินี้จะเป็นพยานปรักปรำเขาอยู่เสมอ (ฉธบ 31 : 26)


ธรรมบัญญัติมีบทบาทเช่นนี้ตลอดมาจนถึงการเสด็จมาของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นจุดหมายของประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น ทำให้ความจริงต่างๆ ชัดเจนขึ้น นักบุญเปาโลอธิบายบทบาทนี้ของพระคริสตเจ้าโดยเฉพาะใน กท 3 : 15-29 ว่าพระองค์ทรงทำพันธสัญญาใหม่ตามที่พันธสัญญาเดิมเป็นรูปแบบล่วงหน้าไว้ บัดนี้พระองค์ทรงทำพันธสัญญากับบรรดาคริสตชนซึ่งเป็นทายาทของอับราฮัมอาศัย ความเชื่อ บทบาทของธรรมบัญญัติคือการปกป้องพระสัญญา เหมือนกับครูพี่เลี้ยงหรือแม่นมที่นำประชากรของพระเจ้ามาพบพระคริสตเจ้า เพราะพระสัญญาเป็นความจริงแล้วในพระคริสตเจ้านี้เอง

คริสตชนไม่เป็นเด็กที่ต้องมีธรรมบัญญัติเป็นครูพี่เลี้ยงอีกแล้ว เขาเป็นอิสระไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของธรรมบัญญัติแต่ยังต้องปฏิบัติตาม คำสอนทางศาสนาและศีลธรรมที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบในธรรมบัญญัติ เพราะพระคริสตเจ้ามิได้เสด็จมาเพื่อล้มล้างธรรมบัญญัติ แต่ทรงมาเพื่อทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ (มธ 5 : 17) พันธสัญญาใหม่ไม่ลบล้างพันธสัญญาเดิมแต่ขยายให้กว้างขึ้น พระศาสนจักรไม่เพียงจะยอมรับว่าเหตุการณ์ในพันธสัญญาใหม่ (การถวายบูชาของพระคริสตเจ้า ศีลล้างบาป การสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า) มีรูปแบบล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้วในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยของบรรพบุรุษและ โมเสส รวมทั้งในการฉลองและศาสนพิธีในระหว่างการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร (การถวายบูชาอิสอัค การข้ามทะเลต้นกก ปัสกา) เท่านั้น แต่คริสตศาสนายังเรียกร้องคริสตชนให้มีท่าทีเดียวกันกับที่กำหนดไว้สำหรับ ชาวอิสราเอลในเรื่องราวและกฎหมายของหนังสือปัญจบรรพอีกด้วย


นอกจากนั้น มนุษย์แต่ละคนที่กำลังเดินทางไปพบพระเจ้าจะต้องผ่านขั้นตอนเดียวกันกับที่ ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรได้ผ่านมาแล้ว คือต้องตัดใจละทิ้งทุกอย่าง ต้องกล้าเผชิญความทุกข์ยากซึ่งเป็นการทดลอง และต้องชำระตนให้เหมาะสมที่จะพบพระองค์ ดังนั้นคริสตชนจึงสามารถรับคำสั่งสอนจากประสบการณ์ต่างๆ ของชาวอิสราเอลด้วย

เราควรอ่านหนังสือปัญจบรรพอย่างไร


เราควรอ่านหนังสือปฐมกาล อพยพ และกันดารวิถีต่อเนื่องกันตามลำดับเหตุการณ์ที่เล่า หนังสือปฐมกาลแสดงให้เราเห็นพระทัยดีของพระเจ้าพระผู้สร้าง ตรงข้ามกับความอกตัญญูของมนุษยชาติที่ทำบาป เรื่องราวของบรรดาบรรพบุรุษแสดงว่าพระเจ้าประทานรางวัลแก่ผู้ที่มีความเชื่อ


หนังสืออพยพเป็นรูปแบบล่วงหน้าของการไถ่กู้ของเราทุกคน หนังสือกันดารวิถีกล่าวถึงช่วงเวลาความทุกข์ยากซึ่งเป็นการทดลอง พระเจ้าทรงสั่งสอนและลงโทษบรรดาบุตรของพระองค์ที่ทำผิด


จะเป็นประโยชน์มากถ้าจะอ่านหนังสือเลวีนิติพร้อมกับบทท้ายๆ ของหนังสือประกาศกเอเสเคียล หรือหลังจากหนังสือเอสราและเนหะมีย์ แม้ว่าการถวายบูชาเพียงครั้งเดียวของพระคริสตเจ้าลบล้างพิธีกรรมทั้งหลายในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว หนังสือเลวีนิติก็ยังเน้นว่าผู้นมัสการรับใช้พระเจ้าจะต้องเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ปราศจากมลทิน ข้อเรียกร้องนี้เป็นบทสอนสำหรับมนุษย์ทุกสมัย


จะเป็นประโยชน์มากเช่นเดียวกันถ้าจะอ่านหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติพร้อมกับหนังสือประกาศกเยเรมีย์ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์และมีจิตตารมณ์ใกล้เคียงกับหนังสือนี้

เทววิทยาของศาสนากรีกโบราณ

เฮร์เรอโดว์เถิส (Herodotus, ก.ค.ศ.484-420) กล่าวถึงความสำคัญของโฮว์เมอร์ (Homer) และเฮสเสียด (Hesiod) สำหรับศาสนาของชาวกรีกไว้ว่า "นักปราชญ์สองท่านนี้แหละที่เป็นผู้แต่งประวัติกำเนิดของเทพเจ้าให้แก่ชาวกรีกทั้งหลาย ตั้งนามให้แก่เทพเจ้าต่างๆ กำหนดยศศักดิ์และความสามารถพร้อมทั้งรูปร่างหน้าตาให้แก่เทพเจ้าแต่ละองค์" (Herodotus, 2 : 53)

จะเห็นได้ว่า อิทธิพลของโฮว์เมอร์และเฮสเสียดต่อการนับถือศาสนาของชาวกรีกนั้นมีมากเกินกว่าที่เราจะคาดหมายได้ แม้จะอ่านหนังสือของท่านทั้งสองในฐานะวรรณคดีโบราณที่เขียนเพื่อความบันเทิงยิ่งกว่าเพื่อปลุกเร้าศรัทธาก็ตาม

เสอโนว์เฝอนิส (Xenophanes ก.ค.ศ.570-478) ก่อนหน้านั้นได้วิจารณ์โจมตีนักปราชญ์ทั้ง 2 ท่านอย่างเผ็ดร้อน ประณามว่าอิทธิพลทางวรรณกรรมของท่านทั้งสอง ทำให้ชาวกรีกพากันหลงงมงายอยู่ในความคิดผิดๆ เสียนานแสนนาน "ความรู้ของชาวกรีกทุกคนก่อตัวขึ้นมาจากโฮว์เมอร์ตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้" (DK, 21 B 10)


เสอโนว์เฝอนิสคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาวกรีกควรจะต้องปรับปรุงความเข้าใจเสียใหม่ ในหัวข้อต่อไปนี้คือ


1.ไม่ควรเข้าใจเทพเจ้าตามลักษณะของมนุษย์ เพราะความเข้าใจเช่นนั้นเป็นไปตามสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ยังไม่รู้จักใช้เหตุผล คือ เมื่อต้องการสิ่งเหนือธรรมชาติไว้เคารพบูชาก็คิดขึ้นมาให้มีลักษณะดีเด่นตามประสามนุษย์เท่านั้น


2.เทพเจ้าไม่น่าจะประพฤติผิดศีลธรรม อย่างมนุษย์ เทพเจ้าของโฮว์เมอร์และเฮสเสียดไม่น่านับถือเลย ศน.11 แถลงว่า "โฮว์เมอร์และเฮสเสียดยกให้เทพเจ้ากระทำได้ทุกอย่าง ซึ่งถ้ามนุษย์เราคนใดกระทำก็เป็นเรื่องน่าตำหนิและน่าอับอาย เช่น ขโมย กาเมสุมิจฉาจาร และการหลอกลวงกัน เป็น ต้น" (DK, 21 B 11) และ ศน.12 แถลงต่อว่า "พวกเขาได้เล่าเรื่องเทพเจ้าประพฤติผิดทุกอย่างที่เป็นไปได้ มีทั้งลักขโมย ผิดประเวณี และมดเท็จต่อกัน" (DK, 21 B 12)

3. เทพเจ้าไม่น่าจะมีรูปร่างเป็นต้นไม้ ในเรื่องนี้เสอโนว์เฝอนิสต้องการจะชี้แจงให้เห็นว่าคนเราลงได้งมงายแล้ว ก็เหมือนคนไร้เหตุผลและไร้สติสัมปชัญญะ แม้กระทั่งต้นไม้ก็ยังกราบไหว้ได้ในฐานะเทพเจ้า ดังความจาก ศน. 17 ว่า "และต้นสนก็ยังได้รับการนับถือว่าเป็นเทพดายเออนายเสิส รายล้อมศาลารโหฐาน" (DK, 21 B 17) ที่บันทึกไว้เช่นนี้ก็เพราะว่า ในขณะประกอบพิธีกรรมทุกคนที่ได้ร่วมพิธีกรรมรวมทั้งกิ่งไม้ที่สมาชิกใหม่ถืออยู่ในมือก็ได้ชื่อว่าเป็นเทพไปด้วย


4.เทพเจ้าน่าจะเป็นอิสระ ไม่น่าจะต้องอยู่ใต้บังคับกันหรือถูกครอบงำโดยกฎเกณฑ์ใด แต่ทว่าเทพเจ้ากรีกมีฐานันดรศักดิ์เป็นหลั่นเป็นชั้น เทวราชซูส (Zeus) ซึ่งเป็นเทพสูงสุดก็ยังต้องฟังมติข้างมาก เทพทุกองค์ถูกครอบงำโดยชะตา (Fate) ไม่มีเศษนิพนธ์ที่บ่งให้รู้ว่าเสอโนว์เฝอนิสวิจารณ์เรื่องนี้ตรงๆ อย่างไร แต่ อย่างน้อยก็มีชิ้นหนึ่ง คือเศษนิพนธ์ที่ 25 ที่แถลงยืนยันว่า "พระเจ้าทรงเคลื่อนที่ทุกสิ่งได้โดยความปรารถนาในพระทัย ไม่ต้องลำบากยากเย็นอะไรเลย" (DK, 21 B 25) มีบ่อเกิดทุติยภูมิหลายแหล่งที่ยืนยันความคิดของเสอโนว์เฝอนิสในเรื่องนี้ตรงกันว่าเทพเจ้าไม่มีการบังคับบัญชากัน เพราะเป็นการลบหลู่เกียรติอย่างยิ่งที่เทพเจ้าจะต้องอยู่ใต้บังคับบัญชา เทพเจ้าทุกองค์จะต้องไม่มีจุดอ่อนในเรื่องใดเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องนี้ ซึ่งแสดงว่าผู้เคลื่อนสูงสุดซึ่งก็คือผู้เคลื่อนแรกหรือปฐมกร (the First Mover) มีเทพบริวารช่วยงานอย่างอะลุ้มอล่วยต่อกัน ไม่ใช่บังคับบัญชากันอย่างการบริหารงานของมนุษย์


เมื่อวิจารณ์การนับถือเทพเจ้าของชาวกรีกโดยทั่วไป ที่ได้รับด้วยศรัทธาถ่ายทอดมาจากโฮว์เมอร์และเฮสเสียดแล้ว เสอโนว์ เฝอนิสก็เสนอความคิดเห็นของตนเองว่า พระเจ้าที่ควรยกย่องนับ ถือสูงสุดจะมีองค์เดียวคือพระเป็นเจ้า (God)


อซาคเขรอถิส (Isocrates ก.ค.ศ.436-338) อ้างว่าชาวออร์ เฝิสท์ (Orphist) ช่วยกันชี้แจงว่า ศาสนาของชาวกรีกตามคัมภีร์ของโฮว์เมอร์และเฮสเสียดนั้นไม่น่าเลื่อมใสเอาเสียเลย เพราะเทพเจ้าทั้งหมดใช้อำนาจอย่างเห็นแก่ตัวและศีลธรรมด้านประเวณีเหลว แหลกมาก ไม่น่านับถือ ความจริงนั้นเทพเหล่านั้นเป็นผู้น่ารักน่าเคารพ มีศีลธรรมสูงส่ง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดให้มนุษย์เอาอย่างได้ ออร์เฝียส (Orpheus) ได้รับการเปิดเผยความจริงอันสูงส่งเกี่ยวกับเทพ จึงมีหน้าที่ต้องนำมาเปิดเผยเพื่อแก้ไขลบล้างความเข้าใจผิดที่สืบเนื่องมาจากเรื่องเล่าของโฮว์เมอร์และเฮสเสียด จึงไม่น่าแปลกใจที่คนดีมีสติสัมปชัญญะย่อมจะเชื่อออร์เฝียสมาก กว่าเชื่อโฮว์เมอร์และเฮสเสียด

ลัทธิออร์ฟีสม์ (Orphism) ได้ปรับปรุงให้ศาสนากรีกโบราณมีเหตุผลและมีเกณฑ์ศีลธรรมดีมาก จนเป็นที่น่าเชื่อถือของปัญ ญาชนและเมื่อศาสนาคริสต์เริ่มตั้งมั่นในมหาอาณาจักรโรมัน ศาสนาออร์เฝียสก็นับเป็นคู่แข่งที่สำคัญของศาสนาคริสต์ทีเดียว มีวรรณกรรมมากมายเกิดจากฝีมือของปัญญาชนผู้เลื่อมใสในศาสนาออร์เฝียส แต่ตามธรรมเนียมของสมัยนั้น งานเหล่านี้ถูกเผยแพร่เป็นงานของออร์เฝียสเองทั้งหมด แต่ทว่าหลังจากกฤษฎีกาของจักรพรรดิเจิสทีนเนียนที่สองใน ค.ศ.529 ห้ามนับถือศาสนาใดในมหาอาณาจักรโรมันนอกจากศาสนาคริสต์ วรรณกรรมของลัทธิออร์เฟียสจึงสูญหายเป็นส่วนมาก คงเหลือเพียงเศษนิพนธ์นิดหน่อยและข้ออ้างในงานเขียนของชาวคริสต์ที่อ้างเพื่อโจมตี เรื่องราวที่เล่าไว้จึงมีลักษณะหลากหลายจนปะติดปะต่อเข้าเป็นเรื่องเดียวกันยาก มีทั้งเรื่องเล่าระดับชาวบ้านและระดับปัญญาชน แต่ทั้งหมดบ่งชี้ว่าออร์เฝียสได้รับการยกย่องนับถือในหมู่ชาวกรีกและชาวโรมันต่อมาอย่างกว้างขวาง ในระดับขวัญใจประชาชนทีเดียว บางเรื่องก็ยกย่องขึ้นเป็นเทพ บางเรื่องก็เล่าในสภาพของมนุษย์ที่ตั้งใจทำดีแต่ถูกปองร้ายอย่างน่าเห็นใจ แต่ในที่สุดเทพดายเออนายเสิสผู้เปิดเผยจารีตแห่งรหัสยลัทธิให้ ก็นำวิญญาณไปสู่ดินแดนแห่งชีวิตอมตะแห่งอลายเฉิม (Elysium) ของพระมารดาเซมเมอลิ


พีนเดอร์ (Pindar ก.ค.ศ.522 - 438) เล่าว่า ออร์เฝียสเป็นโอรสของกษัตริย์อีเออเกริส (Oeagrus) แห่งนครรัฐเธรส (Thrace) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรีซ กับเทพธิดาแห่งศิลปะนามว่าเขิลลายเออผิ (Calliope) จึงมีพรสวรรค์อย่างสูงในการแต่งกลอนและเล่นดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นพิณ จนเทพอพาลโลว์โปรดปราณถึงกับประทานพิณให้ บรรดาเทพธิดาศิลปะก็ช่วยกันสอนให้จนเก่งที่สุดในหมู่มนุษย์ ขนาดที่ว่าสามารถสะกดจิตสัตว์ป่าได้ทั้งป่า และแม้แต่ต้นไม้หรือแท่งศิลายังขยับเขยื้อนไปตามเสียงพิณ เล่ากันว่าที่ตำบลโซว์นิ (Zone) ในแคว้นเธรสมีหมู่ไม้ที่แสดงการเต้นระบำค้างจากการที่ได้ยินเสียงพิณและหยุดกะทันหัน


ดายเออดอร์เริส ซีคเขอเลิส (Diodorus Siculus) เล่าว่าออร์เฝียสได้ไปศึกษาเล่าเรียนถึงดินแดนอียิปต์ ต่อจากนั้นก็ร่วมเดินทางผจญภัยกับกลุ่มอาร์เกอนอท (Argonaut) ได้มีโอกาสบรรเลงดนตรีช่วยพรรคพวกให้พ้นภัยมาได้หลายครั้ง จนกลับถึงเมืองได้อย่างปลอดภัย ต่อมาได้สมรสกับเยอรีดเดอสิ (Eurydice) แล้วก็พากันไปอยู่ในหมู่ชาวซีคเขอนิส (Cicones) ต่อมาไม่นานเยอรีดเดอสิก็ถูกงูพิษกัดตาย ออร์เฝียสโศกเศร้ามาก คิดว่าเธอยังไม่น่าตาย จึงเสี่ยงเดินทางไปตามหาเธอในยมโลก โดยเข้าถ้ำออร์เนิม (Ornum) ในตำบลเถริสพาร์เถิส (Trespartus) ก็ได้ไปถึงยมโลกดังตั้งใจ ผ่านด่านต่างๆ ได้ด้วยเสน่ห์แห่งดนตรีของตน ในที่สุดก็พบวิญญาณของศรีภรรยาในยมโลกแฮดดิส (Hades) จึงเข้าเฝ้ายมราชแฮดดิสและยมราชินีเผอร์เซฟเฝอนิ (Persephone) ถวายดนตรีจนเคลิบเคลิ้มกันไปทั่วแฮดดิส ยมราชและยมราชินีพอพระ ทัยจึงประทานให้ตามที่ขอโดยมีเงื่อนไขว่า ออร์เฝียสจะต้องไม่หันหน้ากลับหลังดูภรรยาจนกว่าจะเดินทางถึงแดนมนุษย์ ออร์เฝียสจึงเดินทางนำภรรยาย้อนกลับทางเดิม เกือบจะออกปากถ้ำอยู่แล้ว ออร์เฝียสเกิดไม่แน่ใจว่าภรรยาเดินตามมาข้างหลังหรือไม่จึงหันไปดู พลันวิญญาณของภรรยาก็หายวับกลับคืนยมโลกตลอดกาล

อาฟเวิด (Ovid ก.ค.ศ.43-ค.ศ.17) เล่าว่า หลังจากที่เทพดายเออนายเสิสได้สอนรหัสยลัทธิของตน และแต่งตั้งให้ออร์เฝียสเป็นศาสดาเผยแผ่แล้ว ก็ได้สัญจรไปบรรเทาทุกข์ในที่อื่นๆ ครั้นกลับมาก็พบว่าออร์เฝียสเปลี่ยนใจไปเผยแผ่รหัสยลัทธิของเทพ อพาลโลว์เสียแล้ว ทุกเช้าจะพากลุ่มบุรุษปีนขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อประกอบพิธีต้อนรับสุริยเทพอพาลโลว์ ตอนค่ำก็พากันเข้าวิหาร เทพอพาลโลว์ เพื่อร้องเพลงสดุดีทำนองเสนาะกล่อมเทพ อพาลโลว์ให้บรรทม เทพดายเออนายเสิสพิโรธมาก จึงปลุกระดมบรรดาสตรีให้ทำการกวาดล้าง โดยบุกเข้าไปในวิหารเทพอพาลโลว์ตอนค่ำขณะประกอบพิธีกรรม สังหารบุรุษทุกคนที่ร่วมพิธี เฉพาะออร์เฝียสถูกบั่นเป็นท่อนๆ โยนลงแม่น้ำ แต่ศีรษะลอยขึ้นมาร้องเพลงลอยตามน้ำออกไปสู่ปากน้ำและลอยไปถึงเกาะเลสบัส (Lesbos) เทพธิดาศิลปะพบเข้าจึงนำไปฝังที่เชิงเขาอลีมเผิสด้วยจิตโศกาดูร บันดาลให้นกไนติงเกลแถบนั้นร้องเพลงไพเราะกว่าที่อื่นๆ





ลูเฉิน (Lucian 120-180) ให้เหตุผลว่าเหตุที่สตรีฆ่าสามีของตนก็เพราะพวกหล่อนชอบสำส่อน ออร์เฝียสจึงแนะนำให้บรรดาสามีลักเพศกันเอง เป็นเหตุให้เจ้าหล่อนโกรธแค้นจัด แต่ทว่าเทวีแอฟเฝรอดายถิ (Aphrodite) นำความไปเข้าที่ประชุมสภาอลีมเพิสซึ่งมีมติให้ลงโทษหญิงฆ่าสามีทุกคน เทพดายเออนายเสิสช่วยชีวิตพวกเธอโดยแปลงร่างพวกเธอเป็นต้นสนยืนตระหง่านอยู่แถบนั้น

เศียรของออร์เฝียสถูกนำไปฝังไว้ในถ้ำเอินทีสเสอ (Antissa) อันเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ของเทพดายเออนายเสิส ถ้ำนี้กลายเป็นสำนักโหรทำนายในนามของดายเออนายเสิสจนเป็นเหตุให้สำนักโหรของเทพอพาลโลว์ซบเซาไปตามๆ กัน เทพอพาลโลว์ทนต่อไปไม่ไหว ต้องมายืนบนเศียรของออร์เฝียสพลางกำชับให้ยุติทำนายแข่งขัน "หยุดแทรกแทรงเสียที ข้าทนฟังเจ้าร้องเพลงมานานพอแล้ว" ตั้งแต่นั้นมาเศียรของออร์เฝียสก็หยุดร้องเพลงและไม่มีการทำนายอีก พิณของออร์เฝียสเดิมอยู่ในวิหารของเทพอพาลโลว์แห่งเลสบัส ต่อมาได้รับเกียรติขึ้นไปเป็นกลุ่มดาวพิณในท้องฟ้ามาจนตราบเท่าทุกวันนี้


เผอแซนเนียส (Pausanias 143-176) บันทึกไว้ว่า ออร์เฝียสเป็นผู้ก่อตั้งรหัสยพิธีของอพาลโลว์ในเธรส รหัสยพิธีของเผอร์ เซฟเฝอนิในอจายเนอ (Aegina) และของเดอเมทเถอร์ (Demeter) ในสพาร์เถอ (Sparta)

เมื่อคาทอลิกขอชี้แจงโปรเตสแต๊นท์

(หมายเหตุ: บทความนี้เดิมชื่อ "ศรัทธาพาหลง : โปรแตสแตนท์และคาทอลิก ความสัมพันธ์บนความเข้าใจผิดที่มิอาจแก้ไขได้?" เขียนโดย บาทหลวงไพบูลย์ อุดมเดช C.Ss.R. - ข้าพเจ้าได้มีการตัดทอนบางส่วนออกไปเพื่อให้กระชับขึ้น) อ่านจบแล้วท่านผู้อ่านสามารถสะท้อนความคิดเห็นได้

Dr.Sinchai

...................


ผมมีโอกาสได้อ่านบทความที่เป็น "การเปรียบเทียบระหว่างศาสนาโรมันคาทอลิกกับโปรแตสแตนท์" ที่เขียนโดยพี่น้องโปรเตสแต๊นท์ เมื่ออ่านจบแล้วก็รู้สึกว่าผมน่าจะเขียนอะไรชี้แจงบ้าง เนื่องจากว่าข้อมูลที่นำมาเปรียบเทียบระหว่างศาสนาพี่น้องคู่นี้มีความไม่สมบูรณ์และความเข้าใจผิดปะปนอยู่มาก

อ่านแล้วรู้สึกเหมือนว่าฝ่ายคาทอลิกเป็นผู้ร้ายและฝ่ายโปรแตสแตนท์เป็นพระเอก


ผมเดาเอาว่าผู้จัดทำคงจะแปลเนื้อหามาจากแหล่งข้อมูลที่เขียนโดยพี่น้องโปรแตสแตนท์ที่ยังไม่เข้าใจคาทอลิกดีพอ เป็นต้นว่าในด้านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และมุมมองจากความเป็นจริงของความเป็นมนุษย์ผู้อ่อนแอ



ที่จริงโดยส่วนตัวผมก็แปลกใจมานานแล้วว่าทำไมพี่น้องโปรแตสแตนท์เข้าใจเราคาทอลิกผิดๆ และบ่อยครั้งยังฝังใจอยู่ในความผิดพลาดเก่าๆ ในอดีตที่บรรพชนของเราเคยทำ แน่นอน เรายอมรับว่าคาทอลิกผิดพลาดได้เนื่องจากความอ่อนแอของความเป็นมนุษย์ และสภาพการณ์ของยุคสมัยนั้นๆ แต่ความผิดพลาดนั้นเองที่ช่วยเป็นครูสอนเราให้เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงและไม่ตกลงไปในความผิดพลาดเก่าๆ

มาถึงจุดนี้ผมคิดว่า สาเหตุของความเข้าใจผิดนั้นจุดใหญ่ๆคือ ต่างฝ่ายต่างยึดอัตตาของตนเองมากเกินไป มองจุดบกพร่องของกันและกันและเล่าสืบต่อไปยังลูกหลาน ราวกับว่ามนุษย์เรานั้นเมื่อผิดแล้วก็จะผิดร่ำไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง สาเหตุต่อมาคือความศรัทธาเกินเหตุ อันพาให้หลงทางไปจากความจริง และสาเหตุอีกอย่างคือภาษาที่ใช้ ภาษานั้นมีการเปลี่ยนแปลงนัยยะของความหมาย การเปลี่ยนแปลงความหมายของภาษาในแต่ละยุคสมัยล้วนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้เสมอ และเรามักจะใช้ภาษาเก่าๆของเราในการมองผู้อื่น ความฝังใจในความบกพร่องของผู้อื่นนั้นก็เลยยิ่งฝังลึกในใจเราจนยากที่จะอภัยหรือลืมได้


บทความยาวบทนี้ ผมพยายามจะชี้แจงความเข้าใจผิดของพี่น้องโปรแตสแตนท์ในสิ่งที่คาทอลิกเชื่อ สอนและปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ ผมจะไม่วิจารณ์คำสอนของพี่น้องโปรแตสแตนท์เพราะจะผิดพลาดได้และไม่ใช่เป้าหมายของบทความนี้ นอกนั้น ผมขอออกตัว ณ ที่นี้ว่าผมไม่ได้เขียนชี้แจงในฐานะผู้นำของศาสนาคาทอลิก (แม้ผมจะเป็นพระสงฆ์) อย่างเป็นทางการ ผมเพียงต้องการชี้จุดที่ผู้อ่านหรือนักศึกษาที่เรียนวิชาศาสนาเปรียบเทียบน่าจะนำมาใคร่ครวญว่าความจริงอยู่ที่ใด และที่สำคัญการเปรียบเทียบใดๆที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง นอกจากจะไม่มีคุณค่าทางวิชาการแล้วยังจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ความแตกแยก การถือเขาถือเรา การเพิ่มพูนอัตตาของตนเอง และอะไรอื่นอีกมากมายที่ห่างไกลจากคำสอนของพระอาจารย์เจ้าที่แท้จริง ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเหตุการณ์ตามลำดับเวลาและสภาพความเป็นไปของยุโรปในยุคศตวรรษที่ 16 ก่อนที่จะมีการปฏิรูปคริสต์ศาสนา เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมๆของยุคนั้นว่าวุ่นวายเพียงใด และคาทอลิกเองก็พยายามให้มีการปฏิรูปจากภายในแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่ท่านลูเทอร์จะจุดชนวนการเปลี่ยนแปลงขึ้นในเยอรมันนี

ผมได้ให้ภาพรวมๆของยุโรปข้างต้น ซึ่งคงพอจะทำให้ผู้อ่านนึกภาพออกว่ายุโรปในยุคนั้นวุ่นวายเพียงใด เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทั้งทางสังคม ศาสนาและการเมืองเป็นสิ่งที่มีทั่วไปในยุคนั้น ศาสนาคาทอลิกมิได้นิ่งนอนใจ เพียงแต่เห็นว่าการปฏิรูปนั้นต้องมีความรอบคอบ ปฏิรูปแล้วไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มีแต่ความวุ่นวาย ความเสียหาย การปฏิรูปก็ไม่ผิดอะไรกับการก่อหวอดเพื่อผลประโยชน์ของอัตตา ฝ่ายคาทอลิกได้พยายามมีการปฏิรูปโดยเริ่มจากเรื่องของจิตใจและเรื่องชีวิตฝ่ายจิตก่อน ดังจะเห็นได้จากความพยายามตั้งคณะนักบวชต่างๆขึ้นมาทั้งชายและหญิงเพื่อให้เป็นแบบอย่างในชีวิตศีลธรรมและชีวิตทางความศรัทธา การพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำกันมาจนเคยชินแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อาจต้องแลกด้วยชีวิต เป็นต้นเมื่อต้องเผชิญกับการท้าทายอำนาจทางการเมืองทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่ต้องการเข้าใจประวัติศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 16 ที่แท้จริงนั้นจำต้องมองยุโรปในทุกด้านไม่ใช่จากด้านศาสนาและความศรัทธาอย่างเดียว ศาสนาคาทอลิกในยุคนั้นไม่ใช่ศาสนาโดดแต่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคม ผลประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม พระสันตะปาปาเป็นทั้งผู้นำศาสนาและผู้นำอาณาจักรโรมันอันกว้างใหญ่ไพศาล การปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงอะไรจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆแม้พระองค์อยากจะทำก็ตาม การที่ท่านลูเทอร์ทำการปฏิรูปในหลายๆแง่มุมก็เป็นสิ่งที่เตือนใจให้ผู้นำทางศาสนาคาทอลิกเห็นแสงสว่างเช่นกัน สังคายนาเมืองเทรนต์คือเครื่องหมายของการปฏิรูปในศาสนาคาทอลิกที่เห็นได้ชัดเจน มีการตั้งระเบียบวินัย ชำระพระคัมภีร์ ตั้งสถาบันอบรมพระสงฆ์นักบวช ธรรมทูตขึ้นมา และค่อยๆจัดการกับพระสงฆ์นักบวชที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยให้ออกไปจากระบบ จัดระเบียบบริหารพระศาสนจักรใหม่ พยายามลดบทบาทและอิทธิพลของการเมืองรัฐต่างๆที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารพระศาสนจักรออกไปเพื่อว่าพระสันตะปาปาจะได้มีสิทธิ์และอำนาจเต็มที่ในการบริหารพระศาสนจักรอย่างที่ควรจะเป็น


ต่อไปผมจะขอชี้แจงความเข้าใจผิดของพี่น้องโปรแตสแตนท์จากข้อเขียนเปรียบเทียบระหว่างคาทอลิกกับโปรแตสแตนท์ที่มีในเว็ปไซด์ดังกล่าวข้างต้น

  • 1. เรื่องพระคริสตธรรมคัมภีร์


  • โรมันคาทอลิก : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ
  • ไม่เปิดโอกาสให้สามัญชนอ่านพระคัมภีร์ด้วยตนเองเป็นการส่วนตัว
  • ไม่สนับสนุนให้สามัญชนอ่านพระคัมภีร์ ด้วยการไม่อนุญาตให้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่น ผู้ที่ฝ่าฝืน มีโทษถึงประหารชีวิต
  • การตีความหมายของพระคัมภีร์เป็นกิจที่ทำได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ทางศาสนาเท่านั้น
  • ยอมรับคำสอนตกทอดของคริสตจักรและคำสั่งของสันตะปาปาว่ามีสิทธิอำนาจเท่ากับพระคัมภีร์
  • ยอมรับหนังสืออธิกธรรม เข้าในสาระบบของพระคัมภีร์
  • โปรเเตสแตนท์มีความเห็นและการปฏิบัติคือ
  • กระตุ้นให้คริสตชนอ่านพระคัมภีร์ด้วยตนเองเป็นการส่วนตัวนอกเหนือที่ได้รับฟังจากคริสตจักร
  • สนับสนุนให้คริสตชนอ่านพระคัมภีร์ด้วยการแปลออกเป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อสามัญชนจะสามารถอ่านและเข้าใจได้ด้วยตนเอง
  • โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตอยู่กับผู้ที่เชื่อทุกคน ทำให้ผู้ที่เชื่อได้รับการดลใจ การเปิดเผยจากพระคัมภีร์
  • พระวจนะของพระเจ้าในพระคัมภีร์นั้น ถูกต้องและสมบูรณ์ มีสิทธิอำนาจเหนือหนังสือคำสอน วาทะของมนุษย์ทุกคน
  • พระคัมภีร์ 66 เล่ม ที่บรรจุในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและสัญญาใหม่เท่านั้น ที่อยู่ในสาระบบที่คริสตจักรยอมรับ

คำชี้แจง

ข้อที่ 1) ที่กล่าวว่าคาทอลิกไม่เปิดโอกาสให้สามัญชนอ่านพระคัมภีร์ด้วยตัวเองเป็นการส่วนตัวนั้นไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริง ในศตวรรษที่ 16 นั้นคริสตชนที่รู้ภาษาลาตินและกรีกนั้นมีน้อยมาก(ปัจจุบันก็เช่นกันคนที่รู้ภาษากรีกและลาตินก็เฉพาะคนที่ไปเรียนด้านนี้โดยตรง) การศึกษาจำกัดอยู่เฉพาะในอาราม ท่านลูเทอร์ก็ได้รับการศึกษาจากอารามเช่นกัน คนที่อ่านพระคัมภีร์ได้จึงมีเฉพาะพระและนักบวช ที่ว่าคาทอลิกไม่เปิดโอกาสให้สามัญชนอ่านพระคัมภีร์นั้นไม่ถูกต้องแน่นอน สามัญชนไม่อ่านเพราะอ่านไม่ออกเนื่องจากระบบการศึกษามีความจำกัด มาในปัจจุบันนี้คาทอลิกส่งเสริมให้ทุกคนอ่านพระคัมภีร์ แต่ก็มาพบกับปัญหาใหม่คือเรื่องการตีความพระคัมภีร์ เนื่องจากพระคัมภีร์ไม่ใช่หนังสือนิยายที่จะอ่านเพื่อความบันเทิง แต่พระคัมภีร์เป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์และเขียนขึ้นเพื่อคนยิวในยุคเริ่มต้นของการสร้างชาติอิสราแอล (พระธรรมเดิม) มีเป้าหมายในการเขียน ภาษาที่ใช้ก็เขียนในบริบทของคนยุคนั้น การจะเข้าใจพระคัมภีร์เดิมจึงไม่ใช่เพียงแค่อ่านออกแต่เป็นเรื่องของการเข้าใจเบื้องหลังและสภาพแวดล้อมของคนอิสราแอลในยุคนั้นด้วย ส่วนพระธรรมใหม่นั้นก็เช่นกัน ผู้เขียนมีหลายคนและแต่ละคนก็บันทึกเรื่องราวของพระเยซูเจ้าภายหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ปี ในส่วนของบทจดหมายต่างๆก็เช่นกัน ผู้อ่านต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมของผู้เขียนและคนในยุคนั้นๆจึงจะเข้าใจอย่างถูกต้องได้ วิธีการเขียนก็เช่นกัน ข้อมูลที่ได้มาในการบันทึกเป็นพระคัมภีร์นั้นก็ต้องมีการศึกษาให้แน่ชัดว่าคัดลอกหรือเอามาจากแหล่งใด การอ่านพระคัมภีร์จึงไม่ใช่เรื่องที่อ่านออกหรือไม่ออกแต่เป็นเรื่องที่ว่าจะอ่านอย่างไรถึงจะเข้าใจเจตจำนงของผู้เขียนจริงๆ คาทอลิกส่งเสริมให้ทุกคนอ่านพระคัมภีร์แต่ก็ต้องอ่านด้วยความรอบคอบ ไม่ตีความอะไรตามใจตัวเองหรือตามตัวอักษรเพราะจะเกิดความเข้าใจผิดพลาดได้ ผู้อ่านจำต้องปรึกษากับผู้รู้เพื่อความปลอดภัย

ข้อ 2) ไม่สนับสนุนให้สามัญชนอ่านพระคัมภีร์และไม่อนุญาตให้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่น....อันนี้ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน ในอดีตนั้นอาจเป็นได้ที่ฝ่ายคาทอลิกต้องการคงภาษาลาตินเป็นภาษาทางการ รวมทั้งภาษาของพิธีกรรมและพระคัมภีร์ด้วย เนื่องจากศาสนาคาทอลิกเป็นศาสนาใหญ่ที่มีสมาชิกจากชนเกือบทุกชาติและภาษา การสื่อความด้วยภาษาลาตินเป็นภาษาทางการจึงมีเหตุผล แต่กระนั้นก็ตามเมื่อกาลเวลาผ่านไปคนที่พูดและรู้ภาษาลาตินมีน้อยลงจนหาคนคล่องภาษาลาตินจริงๆยากและที่สุดภาษาลาตินก็กลายเป็นภาษาที่ไม่มีใครพูดอีกต่อไป ความจำเป็นที่ต้องมีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่นก็เลี่ยงไม่ได้ สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (ปี 1963-1965)ได้ปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมใหม่ ให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในพิธีกรรมได้อีกทั้งสนับสนุนให้มีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาต่างๆด้วย ส่วนที่ว่ามีการประหารคนที่ฝ่าฝืนแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่นนั้น เท่าที่ทราบและที่เรียนมาผมไม่เคยได้ยินและไม่มีหลักฐานว่าใครถูกประหารเนื่องจากแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่น


ข้อ 3) การตีความหมายของพระคัมภีร์เป็นกิจที่ทำได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ทางศาสนาเท่านั้น ข้อความนี้มีทั้งจริงและไม่จริง อย่างที่กล่าวแล้ว พระคัมภีร์ไม่ใช่หนังสือนิยายที่ใครๆก็อ่านได้และเข้าใจได้ง่าย จำเป็นต้องมีการตีความอย่างถูกต้อง คนที่จะตีความได้จึงต้องมีความรู้ในภาษาดั้งเดิมของพระคัมภีร์ การตีความอย่างเป็นทางการนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้รู้จริง แต่ถ้าหากคาทอลิกคนใดอยากตีความเองก็ทำได้ แต่อาจจะไม่มีใครเชื่อถือ


ข้อ 4) ยอมรับคำสอนตกทอดของคริสตจักรและคำสั่งของพระสันตะปาปาว่ามีสิทธิอำนาจเท่ากับพระคัมภีร์ คำว่าคำสอนตกทอดนั้นหมายถึง ธรรมเนียมประเพณีของคาทอลิกที่เราถือว่าเป็นเสาหลักอย่างหนึ่งในการค้ำชูสถาบันศาสนา คำว่าธรรมเนียมประเพณี(Tradition) คำนี้มีความหมายไม่ใช่เพียงแค่การทำกันมาอย่างนั้นแต่ไหนแต่ไร ตรงกันข้ามเป็นธรรมเนียมที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยกาลเวลาและเหตุผลว่าถูกต้องและใช้ได้ สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนเรา เช่นธรรมเนียมการให้ความเคารพนักบุญ ประเพณีเฉลิมฉลองต่างๆที่เกิดขึ้นหลังยุคพระคัมภีร์ นอกนั้นธรรมประเพณียังมีความหมายรวมถึงพระคัมภีร์ คำสอน ประเพณีปฏิบัติที่ได้รับการรับรองว่าถูกต้องจากพระศาสนจักรแล้วด้วย ส่วนที่ว่าคำสั่งของพระสันตะปาปามีสิทธิ์อำนาจเท่ากับพระคัมภีร์นั้น เป็นการจับแพะชนแกะ พระสันตะปาปามีอำนาจเรื่องการสอนความเชื่อและจริยธรรม ไม่ใช่คำสั่งทุกประการของพระสันตะปาปาจะเท่ากับพระคัมภีร์ เรื่องความเชื่อและเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เป็นต้นประการหลัง มีคำสอนทางจริยธรรมหลายอย่างที่เราไม่อาจจะพบได้โดยตรงในพระคัมภีร์ พระศาสจักรจึงต้องคิดหลักการจริยธรรมที่ถูกต้องขึ้นมาโดยอาศัยนักพระคัมภีร์ นักจริยศาสตร์และนักเทววิทยาต่างๆ ตัวอย่างง่ายๆปัญหาของสงครามว่าทำได้หรือไม่ได้(ในพระธรรมเดิมมีเรื่องการฆ่ากันในสงครามมากมาย) หรือฆ่าผู้อื่นในนามพระเจ้านั้นชอบธรรมหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น

ข้อ 5) ยอมรับหนังสืออธิกธรรมเข้าในสาระบบพระคัมภีร์ หนังสืออธิกธรรมคือหนังสือในหมวดที่ภาษาพระคัมภีร์เรียกว่า Deuterocanonical books มีหนังสือ โทบิต หนังสือ ยูดิธ หนังสือปรีชาญาณของซาโลมอน หนังสือบุตรสิราห์ หนังสือประกาศกบารุค หนังสือมัคคาบี 1-2 และมีบางตอนของหนังสือ เอสเธอร์และประกาศกดาเนียลที่พบในต้นฉบับภาษาฮีบรูและอารามาอิก ฝ่ายโปรแตสแตนท์สงสัยว่าหนังสือเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นเอกสารที่ได้รับการดลใจ ทางฝ่ายคาทอลิกบอกว่าเป็นเอกสารที่เชื่อถือได้และมีคำสอนที่ดีแฝงอยู่จึงประกาศเข้าไว้ในสาระบบพระคัมภีร์ ใครที่อยากเข้าใจเรื่องนี้ในรายละเอียดและเหตุผลที่จัดเข้าในสาระบบก็คงต้องหาหนังสือประวัติพระคัมภีร์มาอ่านโดยตรง จึงจะรู้วิธีที่เขาใช้เป็นมาตรฐานว่าหนังสือเล่มใดถือเป็นพระคัมภีร์หรือไม่ มีพระคัมภีร์หลายเล่มที่ฝ่ายคาทอลิกไม่รับรอง และได้จัดให้อยู่ในหมวดของ Apocrypha (ภาษากรีกแปลว่า สิ่งที่ซ่อนเร้น) ซึ่งมีคุณค่าในระดับการอ่านบำรุงจิตใจแต่ไม่ถือเป็นเอกสารที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า เช่น หนังสือ The song of the three young men, Prayer of Manasseh, the book of Enoch, Hebraica veritatis etc. ในหมวดพระธรรมใหม่ก็มีหนังสือประเภทนี้เช่นกัน เช่น The Gospel of Thomas (พบในปี1945), The Gospel of Peter (พบในปี 1886), The Gospel of Egyptians, The Gospel of Nazareans, the Gospel of the Hebrew. เราจะเห็นได้ว่ามีหนังสือที่ค้นพบหลายๆเล่มที่ต้องใช้วิจารญาณในการพิจารณาว่าน่าจะเป็นพระคัมภีร์หรือไม่ มีหนังสือปลอมๆมากมายที่พบและไม่มีค่าแก่การเป็นพระคัมภีร์เพราะเต็มไปด้วยเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆมากมาย พูดง่ายๆคือมันหวือหวาเกินกว่าที่จะเป็นเอกสารที่น่าเชื่อถือได้ (ไม่ใช่ของเก่าทุกชิ้นจะน่าเชื่อถือและศักดิ์สิทธิ์ เรื่องนี้คนค้าของโบราณรู้ดี)

2. เรื่องความรอด


โรมันคาทอลิก : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

มนุษย์จะได้รับความรอดโดยผ่านทางความเชื่อในพระเยซูคริสต์และการทำความดี

การอภัยโทษบาปจะได้รับโดยพิธีบัพติสมา และจะหมดสภาพไปหากมนุษย์ได้กระทำบาปที่นำไปสู่ความตาย ซึ่งจะแก้ไขได้โดยการทนทุกข์ทรมานชดใช้กรรม หรือการถวายทรัพย์

ความรอดจะเป็นของผู้ที่อยู่ในศาสนจักรโรมันคาทอลิกเท่านั้น

โปรเเตสแตนท์ : มีความเห็นและปฏิบัติ คือ

มนุษย์จะได้รับความรอดโดยผ่านทางความเชื่อในพระเยซูคริสต์เท่านั้น การทำดีเป็นผลจากการได้รับความรอดจากพระเจ้าไม่ใช่เป็นเหตุที่ทำให้ได้รับความรอด (เอเฟซัส 2:8-10)

การอภัยโทษบาป จะได้รับเมื่อมนุษย์เชื่อในการสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปของพระเยซูคริสต์ การรับบัพติสมาไม่ได้เป็นเหตุของการรับอภัยโทษบาป

ความรอดเป็นของมนุษย์ทุกคนที่เชื่อและไว้วางใจในพระเยซูคริสต์ไม่ใช่เพราะเป็นสมาชิกของคริสตจักร



คำชี้แจง


ข้อ 1) มนุษย์จะได้รับความรอดโดยผ่านทางความเชื่อในพระเยซูคริสต์และการทำความดี ข้อนี้เป็นจุดยืนของฝ่ายคาทอลิกจริง เนื่องจากฝ่ายคาทอลิกมองความหมายของความรอดในขอบเขตที่กว้างออกไปยังมนุษยชาติ รวมทั้งคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อของพระเยซูคริสตเจ้าด้วย นอกนั้นมนุษย์เรายังดำเนินชีวิตในขอบจริยธรรมอันดีงามตามธรรมชาติได้โดยที่เขาอาจจะไม่รู้จักคริสต์ศาสนาเลยก็ได้เช่นกัน ความดีงามสากลมีอยู่ในธรรมชาติ การที่จะจำกัดว่าความรอดไม่เกี่ยวกับการพยายามทำดีของคนเราเลยนั้นค่อนข้างจะแคบไป คนที่จะเข้าใจความหมายที่ว่าความรอดล้วนมาจากพระเจ้าได้นั้นต้องมีประสบการณ์ลึกซึ้งกับพระเจ้าจริงๆอย่างท่านเปาโลถึงจะเข้าใจได้ คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนั้นแต่ยืมคำพูดของคนอื่นมาใช้นั้นน่ากลัวว่าจะห่างไกลจากความจริงที่พระเจ้าประสงค์ ลองคิดดูคนที่สิ้นชีวิตไปโดยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพระเจ้า วิญญาณของพวกเขาต้องได้รับโทษด้วยหรือ? พระเจ้าแห่งความดีงามน่าจะมีวิธีที่ดีสำหรับพวกเขา อีกประการหนึ่งการปฏิเสธว่าคนเราทำดีอย่างไรก็ไม่ได้ดีนั้นล้วนเป็นการมองธรรมชาติมนุษย์จำกัดเกินไป อย่าลืมว่ามนุษย์คือสิ่งสร้างที่ดีเยี่ยมของพระเจ้านะครับ การพยายามไปถึงความดีงามสูงสุดจึงน่าจะมีความหมายและมีคุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้ามิใช่หรือ

ข้อ 2) พูดถึงเรื่องการอภัยบาปในพิธีล้างบาปหรือพิธีบัปติสมานั้นถูกต้อง คือฝ่ายคาทอลิกเชื่อว่าพิธีล้างบาปนั้นได้ชำระบาปที่เรียกว่า บาปกำเนิด หรือ original sin ส่วนธรรมชาติของบาปนี้หมายถึงอะไรแน่นอนก็ยังไม่แจ้งชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ นักเทววิทยายุคใหม่จะมองในแง่ของการเริ่มมีส่วนในชีวิตพระมากกว่ามองจากจุดของความบกพร่องในบาปที่ได้รับเมื่อเกิดมา กระนั้นก็ตามคำถามที่ว่าเหตุใดมนุษย์เกิดมามีความจำกัดก็ยังทำให้ไม่อาจจะทิ้งความคิดเรื่องผลของบาปกำเนิดไปได้โดยสิ้นเชิง คาทอลิกเชื่อว่าพิธีล้างบาปนั้นทำให้ทารกได้มีส่วนในชีวิตพระ เป็นลูกของพระ แต่พิธีล้างบาปก็ไม่ได้ชำระความจำกัดและความโน้นเอียงในทางไม่ดีของคนเราโดยสิ้นเชิง คนเราเมื่อโตมาก็ยังทำผิดได้ ดังนั้นจึงต้องมีการขออภัยจากพระเจ้าโดยทางพิธีสารภาพบาปหรือพิธีขอสมาโทษพระเจ้า และในกรณีที่ทำบาปหนักก็ต้องขอสมาโทษผ่านทางพระสงฆ์ที่มีอำนาจซึ่งได้รับสืบทอดมาจากพระเยซูเจ้าในการโปรดบาปได้ (Mt.16:19) คาทอลิกเชื่อว่าเมื่อคนเราทำผิดแล้ว การชดเชยใช้โทษความผิดนั้นทำได้หลายวิธีเพื่อแสดงออกถึงความเป็นทุกข์เสียใจและต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ การถวายทรัพย์เพื่อให้หลุดพ้นจากบาปนั้นเป็นความเข้าใจผิด บาปบุญซื้อกันไม่ได้หรอกครับ แต่ที่เห็นเขาถวายปัจจัยต่างๆรวมทั้งทรัพย์สินเงินทองนั้นเป็นการทำบุญทั่วไปที่เห็นในทุกข์ศาสนาแต่มิได้หมายถึงการซื้อหรือขาย บางคนอาจจะมองว่าเป็นการซื้อหรือขายแต่คนที่ทำบุญเองนั้นไม่ได้คิดเช่นนั้น ถ้าเขาคิดว่าเขาซื้อบุญหรือบาปได้เขาก็คิดผิดแน่นอน และไม่ใช่ความคิดของคาทอลิกด้วย

3. เรื่องคริสตจักร


โรมันคาทอลิก : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

คริสตจักรที่แท้จริงประกอบด้วยผู้ที่รับบัพติสมาเข้าเป็นสมาชิกของศาสนจักรโรมันคาทอลิก

คริสตจักรที่แท้จริง คือ คริสตจักรโรมมันคาทอลิกส่วนคริสตจักรอื่นๆ เป็นคริสตจักรนอกรีต

โปรเเตสแตนท์ : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

คริสตจักรที่แท้จริงประกอบด้วย ผู้ที่เชื่อและวางใจในพระนามของพระเยซูคริสต์ ที่ร่วมสามัคคีธรรมในจิตวิญญาณ

คริสตจักรที่แท้จริง คือ คริสตจักรที่เป็นพระกายของพระเยซูคริสต์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เชื่อที่วางใจในพระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอด ที่เรียกว่าการบังเกิดใหม่

คริสตจักรเป็นชุมชนของผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ ที่ทำหน้าที่สำแดงความรัก และนำมนุษย์มาถึงความรอดในพระเจ้า นั่นคือการตอบสนองพระมหาบัญชา

คำชี้แจง

ข้อ 1) พระศาสนจักรหรือคริสตจักรในความหมายของคาทอลิกนั้นคือพระศาสนจักรที่ก่อตั้งโดยพระเยซูเจ้า และสืบทอดตำแหน่งการปกครองผ่านทางอัครสาวกเปโตรหรือปีเตอร์(Mt.16:18; Jn.21:15-18) ทุกคนที่ได้รับพิธีล้างบาปในนามพระบิดา พระบุตรและพระจิตก็ล้วนถือเป็นการล้างบาปที่ถูกต้องแม้จะไม่ได้สังกัดอยู่ในพระศาสนจักรคาทอลิกก็ตาม เช่นการล้างบาปในคริสตจักรออร์โธด๊อก แองกลิกันหรือคริสตจักรอื่นๆที่ทำพิธีล้างในพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิตดังกล่าว การล้างบาปนั้นทุกคนที่เชื่อมีสิทธิ์ได้รับพิธีล้าง และผู้ทำพิธีเองก็เป็นสามัญชนทั่วไปที่เป็นคริสตชนก็ทำพิธีได้ในกรณีจำเป็น แต่โดยทั่วไปแล้วกฎหมายของพระศาสนจักรกำหนดให้พระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีเนื่องจากจะมีการลงทะเบียนและรับรองให้เป็นกิจจะลักษณะและเกี่ยวเนื่องกับเอกสารต่างๆด้วย


ข้อ 2) ที่บอกว่าฝ่ายคาทอลิกถือว่า คริสตจักรแท้คือคริสตจักรโรมันคาทอลิกส่วนคริสตจักรอื่นเป็นคริสตจักรนอกรีต นั้นดูจะเป็นการมองจากมุมด้านเดียว คริสตจักรที่แท้คือคริสตจักรที่ตั้งโดยพระเยซูคริสตเจ้าดังกล่าวข้างต้น ผู้ตั้งคือพระเยซูเจ้า กลุ่มใดที่ถือเช่นนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นคริสตจักรแท้ กระนั้นก็ตามพระศาสนจักรก็ประกอบด้วยมิติอื่นๆด้วยเช่น ความเป็นหนึ่งเดียว (Communion) คำนี้เองคือสิ่งที่ทำให้ฝ่ายคาทอลิกพยายามเรื่อยมาเพื่อจะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวดังคำของพระอาจารย์ที่บอกว่าจะได้มีแกะฝูงเดียวเพราะมีนายชุมพาบาลแต่ผู้เดียว(Jn:10:16) ความแตกแยกจึงเป็นความปวดร้าวของพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าทั้งหมด พระสันตะปาปาทุกยุคทุกสมัยตลอดพันกว่าปีตั้งแต่เริ่มมีการแตกแยกทางความคิดและแยกเป็นนิกายต่างๆนั้นได้พยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวเรื่อยมา ผมเองไม่คิดว่าทางคาทอลิกจะใช้คำพูดว่า คริสตจักรอื่นๆเป็นคริสตจักรนอกรีต แน่นอน คำดังกล่าวค่อนข้างจะรุนแรง ตรงกันข้ามฝ่ายคาทอลิกจะให้ความเคารพแต่การตัดสินใจของมโนธรรมของแต่ละคน(คำสอนคาทอลิกข้อ 1778)รวมทั้งเรื่องการเลือกที่จะอยู่ในฝูงแกะอันเดียวกันนี้ด้วยหรือไม่ แน่นอนฝ่ายคาทอลิกอยากให้ทุกคนที่รับพิธีล้างบาปนั้นได้อยู่ในพระศาสนจักรเดียวกันเหมือนยุคแรกแต่หากเขาไม่ต้องการ ฝ่ายคาทอลิกก็ไม่มีสิทธิ์ใดๆที่จะไปบังคับบุคคลนั้นได้รวมทั้งผู้ที่อยู่ในศาสนาอื่นด้วย มโนธรรมของบุคคลคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่บุคคลนั้นๆต้องเชื่อฟังและเรียนรู้ที่จะฟังเสียงของพระเจ้าจากที่นั่น การที่บอกว่าฝ่ายคาทอลิกมองคริสตจักรอื่นว่านอกรีตนั้นเป็นการใช้คำที่รุนแรงเกินไปครับ คาทอลิกเพียงต้องการอยากให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างพระศาสนจักรในยุคแรกที่มีนายชุมพาเพียงผู้เดียวและมีแกะแต่ฝูงเดียวตามที่พระคริสตเจ้าตรัสเท่านั้นล่ะครับ

4. เรื่องประมุขของคริสตจักร


โรมันคาทอลิก : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

พระสันตะปาปาเป็นประมุขของพระศาสนจักร

พระสันตะปาปาเป็นตัวแทนของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลก

พระสันตะปาปาไม่มีข้อผิดพลาดและคำพูดไม่มีผิด มีค่าเทียบเท่าพระคัมภีร์

พระสันตะปาปาได้รับกุญแจสวรรค์ต่อจากอัครทูตเปโตร

อัครทูตเปโตรเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของศาสนจักร

โปรเเตสแตนท์ : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

พระเยซูคริสต์เป็นประมุขสูงสุดของคริสตจักร : เอเฟซัส 1: 22 "พระเจ้าได้ทรงปราบสิ่งสารพัดไว้ใต้พระบาทของพระคริสต์ และได้ทรงตั้งพระองค์ไว้ เป็นประมุขเหนือสิ่งสารพัดแห่งคริสตจักร"

พระเยซูคริสต์เป็นศีรษะของคริสตจักร : เอเฟซัส 5:23 "เพราะว่าสามี เป็นศีรษะของภรรยาเหมือนพระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของคริสตจักร ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์และพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของคริสตจักร"

คริสตชนทุกคนเป็นตัวแทนของพระเยซูคริสต์ : ยอห์น 1:4 "พระองค์ทรงเป็นแหล่งชีวิต และชีวิตนั้นเป็นความสว่างของมนุษย์" มัทธิว 5:14 "ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก นครซึ่งอยู่บนภูเขาจะปิดบังไว้ไม่ได้"

คริสตชนทุกคนเป็นปุโรหิตหลวง 1 เปโตร 2:9 "แต่ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่ทรงเลือกไว้แล้ว เป็นปุโรหิตหลวง เป็นประชาชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติของพระเจ้าโดยเฉพาะ เพื่อให้ท่านประกาศพระบารมีของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านให้ออกมาจากความมืดเข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์"

มนุษย์ทุกคนเป็นบาป และมีข้อผิดพลาดทั้งสิ้น เว้นแต่องค์พระเยซูคริสต์ โรม 3:23 "เพราะทุกคนทำบาป จึงเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า"

กุญแจสวรรค์อยู่กับคริสตชนทุกคน มัทธิว 28:19 "เจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวกของเราให้รับบัพติสมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์"

อัครทูตเปโตร เป็นหนึ่งในบรรดาอัครสาวกของพระเยซูคริสต์และก็เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นในการรับใช้พระเยซู แม้จะผิดพลาดล้มเหลวและล้มลงหลายครั้งก็ตาม

คำชี้แจง

ข้อ 1) ที่กล่าวมาถูกต้องว่าพระสันตะปาปาคือประมุขของพระศาสนจักร


ข้อ 2) ถูกต้องที่กล่าวว่าพระสันตะปาปาคือผู้แทนของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลก ฝ่ายคาทอลิกอาศัยพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ตรัสมอบอำนาจนี้ให้แก่เปโตร(Mt.16:18)และหลังจากที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพแล้ว บรรดาอัครสาวกองค์อื่นๆรวมทั้งนักบุญเปโลด้วยก็ถือว่านักบุญเปโตรหรือเซ็นต์ปีเตอร์คือผู้นำของพระศาสนจักรสืบจากพระเยซูเจ้า ธรรมเนียมนี้สืบทอดกันเรื่อยมา ดังนี้เองฝ่ายคาทอลิกจึงให้ความสำคัญกับคำว่าธรรมประเพณี (Tradition)มากแม้จะไม่ได้มีบัญญัติไว้ในพระคัมภีร์ก็ตาม เพราะธรรมประเพณีคือตัวเชื่อต่อเอกลักษณ์ของคาทอลิกในเรื่องต่างๆจากชนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง


ข้อ 3) ข้อแก้ไขหน่อยเพราะมีความเข้าใจผิดหลายจุด ที่กล่าวว่าฝ่ายคาทอลิกถือว่าพระสันตะปาปาไม่มีข้อผิดพลาดนั้น ต้องเข้าใจว่าเราถือว่าพระองค์สอนไม่ผิดพลาดในข้อความเชื่อที่ประกาศอย่างเป็นทางการ(dogma)ส่วนคำสอนอื่นๆเช่นด้านจริยธรรมต่างๆจะไม่ถือเป็นความเชื่อที่ไม่ผิดพลาดแต่เป็นคำแนะนำที่ถูกต้อง สองประการนี้ที่สำคัญ ฝ่ายคาทอลิกไม่ได้หมายความว่า คำพูดทุกประการของพระสันตะปาปาไม่ผิดพลาด อันนี้ไม่ใช่ พระสันตะปาปามีสิทธิ์พูดเล่นพูดหัวได้ เช่น พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ที่มักจะมีอารมณ์ขันเสมอๆ ส่วนที่กล่าวว่า คำพูดของพระสันตะปาปามีค่าเทียบเท่าพระคัมภีร์นั้น คำนี้ไม่เคยปรากฏในธรรมเนียมคาทอลิกครับ คนอื่นเขาว่ากันไปเอง ฝ่ายคาทอลิกไม่เคยคิดว่าคำพูดของพระสันตะปาปาเทียบเท่าพระคัมภีร์แน่นอน เราถือว่าคำแนะนำของพระองค์มีค่าควรแก่การนำมาใคร่ครวญและถือตามอย่างยิ่งมากกว่า พระคัมภีร์นั้นเป็นพระวาจาพระเจ้าส่วนพระสันตะปาปานั้นคาทอลิกไม่เคยถือว่าเป็นพระเจ้าแม้พระองค์จะเป็นตัวแทนของพระเยซูเจ้าก็ตาม


ข้อ 4) ถูกต้องแล้วที่บอกว่าฝ่ายคาทอลิกเห็นว่าพระสันตะปาปา(ซึ่งสืบอำนาจต่อจากนักบุญเปโตร)คือผู้ที่ถือกุญแจสวรรค์ (เทียบ Mt.16:19) จุดนี้พึงเข้าใจให้ถูกต้องต่อคำว่า กุญแจสวรรค์ นั้นหมายถึงอำนาจของการอภัยบาปซึ่งอัครสาวกทุกคนก็ได้รับด้วย อำนาจนี้สืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในบรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์ทุกคนที่ได้รับพิธีบวชอย่างถูกต้อง การสืบต่ออำนาจจากอัครสาวกหรืออัครธรรมทูตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งและกลายมาเป็นหนึ่งในเจ็ดพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรคาทอลิก ในหนังสือมัทธิว 28:19 นั้นพระองค์สั่งให้ออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ....นั้นคำว่า ท่านทั้งหลาย พระองค์ตรัสกับอัครสาวก 11 คนของพระองค์ พวกเขาคืออัครธรรมทูต พระองค์มิได้ตรัสกับผู้อื่นหรือคนทั่วไป ใครก็ตามที่ได้รับอำนาจสืบจากอัครสาวกจึงมีอำนาจในการอภัยบาปด้วย

ข้อ 5) กล่าวถูกต้องแล้วที่บอกว่าอัครสาวกเปโตรเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของพระศาสนจักร ดังได้กล่าวข้างต้นตามประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานชัดเจน กลุ่มคริสตชนยุคแรกแม้จะมีหลายชุมชนที่ได้รับความเชื่อมาจากอัครสาวกองค์อื่นๆแต่พวกเขาก็ถือกันว่าอัครสาวก เปโตรคือผู้ที่พระเยซูเจ้ามอบหมายให้เป็นผู้นำสืบต่อจากพระองค์ อำนาจนี้เป็นที่ยอมรับทั่วไป จนเมื่อการเมืองเข้ามาแทรกแซงในภายหลังนั่นแหละ จึงเกิดการแตกแยกถือเขาถือเราและเกิดมีความสงสัยในเรื่องอำนาจของพระสันตะปาปาเกิดขึ้นและแน่นอนหลายกลุ่มก็จะไปหาข้ออ้างจากพระคัมภีร์มาตีความเข้าข้างตนเองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้นเมื่อเกิดปัญหามีพระสันตะปาปาซ้อนเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุคกลางจนกลายมาเป็นเรื่องด่างพร้อยในประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกที่ฝ่ายคาทอลิกเองก็ยอมรับว่าจริง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความบกพร่องนั้นจะทำลายสิทธิ์และอำนาจที่พระเยซูเจ้ามอบให้กับอัครสาวกเปโตรก็หาไม่ พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจนี้ให้แล้วพระองค์ไม่เอาคืนแน่นอนแม้ว่าพระสันตะปาปาบางพระองค์อาจจะมีความอ่อนแอประสามนุษย์ก็ตาม พูดตามประสาชาวบ้านคือเมื่อยูดาสศิษย์ใกล้ชิดพระองค์ยังอ่อนแอได้ ประสาอะไรกับพระสันตะปาปาที่มีชีวิตห่างไกลจากการมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับพระองค์ถึงสองพันปีจะอ่อนแอไม่ได้เล่า ที่กล่าวเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่าพระสันตะปาปาทุกองค์อ่อนแอด้วย เมื่อดูจากประวัติของพระสันตะปาปาที่ถูกต้องทั้ง 262 องค์ที่ผ่านมานั้นเปอร์เซ็นต์ของพระสันตะปาปาที่อ่อนแอและถือว่าไม่ดีนั้นก็มีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก และยิ่งเมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดแล้วก็จะเห็นว่าสภาพแวดล้อม การเมืองและค่านิยมของยุคนั้นๆก็มีส่วนเพิ่มพูนความผิดพลาดอยู่มาก คาทอลิกไม่อายที่จะยอมรับว่าผู้นำในอดีตบางองค์ของเรามีความผิดพลาดและสร้างความด่างพร้อย แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะปรับปรุงแก้ไขไม่ได้ เพราะคาทอลิกเชื่อว่าพระเยซูเจ้ายังรักษาคำสัญญาของพระองค์ที่ว่าจะอยู่กับพระศาสนจักรไปจนสิ้นพิภพ(Mt.28:28)

5. เรื่องคนกลางระหว่างพระเจ้าและมนุษย์


โรมันคาทอลิก : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

วีรบุรุษแห่งความเชื่อที่ได้ดำเนินชีวิตและสละชีวิตเพราะความเชื่อในพระเยซูคริสต์ ถูกยกย่องว่าเป็นนักบุญ และเป็นคนกลางที่คริสตชนสามารถอธิษฐานผ่านเพื่อทูลต่อพระเจ้าได้

คำอธิษฐานใดที่ไม่ได้รับคำตอบในพระนามของพระเยซู ก็ให้อธิษฐานทูลขอต่อพระแม่มารีย์ก็จะได้รับคำตอบแน่นอน ( มีการอธิบายว่าพระเยซูทรงรักพระมารดามาก ถ้าพระมารดาขอพระองค์จะทรงประทานให้เสมอ -คำอธิบายจากซิสเตอร์เพื่อนของผู้เขียน )

โปรแตสแตนท์ : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

พระเยซูคริสต์เป็นคนกลางแต่ผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ 1 ทิโมธี 2:5 "ด้วยเหตุว่ามีพระเจ้าองค์เดียว และมีคนกลางผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสภาพเป็นมนุษย์"

พระเจ้าจะทรงตอบคำอธิษฐานผ่านทางคำทูลขอที่ผ่านทางพระเยซูคริสต์เท่านั้น ยอห์น 14:13 "สิ่งใดที่ท่านทั้งหลายขอในนามของเรา เราจะกระทำสิ่งนั้น เพื่อว่าพระบิดาจะทรงได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ทางพระบุตร"

คำชี้แจง

ข้อ 1) ถูกต้องที่กล่าวถึงคนที่ฝ่ายคาทอลิกยกย่องให้เป็นนักบุญ ทั่วไปคนดีที่เป็นนักบุญนี้เมื่อสิ้นชีพไปแล้วจะมีคณะกรรมการตรวจสอบหลักฐานว่าในชีวิตของพวกเขานั้นได้ดำเนินชีวิตในคุณธรรมด้านใด ระดับใด ควรค่าแก่การยกย่องหรือไม่ มีหลักฐานที่เรียกได้ว่าเป็นอัศจรรย์หรือปาฏิหาริย์หลังความตายมาประกอบหรือไม่ สำหรับผู้ที่ดำเนินชีวิตคุณธรรมคริสตชนขั้นสูงคือความรักแท้ แต่สำหรับผู้ที่ได้สิ้นชีพเพราะถูกเบียดเบียนเรื่องความเชื่อเมื่อสิ้นชีพไปแล้วฝ่ายคาทอลิกให้การยกย่องให้เป็นมรณสักขีที่พลีชีพยืนยันความเชื่อในพระเจ้า ธรรมเนียมคาทอลิกอนุญาตให้วอนขอบรรดานักบุญเหล่านี้ให้อ้อนวอนขอพระเจ้าอวยพรคนที่อยู่ในโลกนี้ได้ บางคนอาจจะมองด้วยสายตาของการเมืองว่านี่เป็นการล็อบบี้ในสวรรค์ อันที่จริงขึ้นอยู่กับการมองและภาษาที่จะเรียก การวิงวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายก็เป็นธรรมชาติของคนเราอยู่แล้ว ศาสนาใหญ่ๆทั้งหลายล้วนเกี่ยวพันกับการวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการที่พึ่งทางใจ อะไรที่มันอธิบายได้ทุกอย่างนั้นไม่นานมันก็เสื่อมคลายไป ใจของคนเรานั้นมักจะแสวงหาสิ่งที่มันอธิบายไม่ได้แต่สัมผัสได้ มิตินี้เขาเรียกว่า Mysticism ซึ่งอยู่เหนือระดับของเหตุผลและเข้าถึงได้จากการปฏิบัติไม่ใช่จากการวิเคราะห์บนพื้นฐานของเหตุผลซึ่งมีความจำกัดในตัวของมันเอง

ข้อ 2) ข้อนี้มีความเข้าใจผิดพลาดมาก เนื่องจากมองพฤติกรรมการให้ความเคารพของคาทอลิกต่อแม่พระหรือพระนางมารีย์แล้วเหมาเอาว่า คาทอลิกถือว่าเมื่อขอพระเยซูเจ้าไม่ได้แล้วก็ให้ขอแม่พระแล้วจะได้ ไม่มีคาทอลิกคนใดรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกครับว่าเมื่อขอแม่พระแล้วจะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นธรรมเนียมที่มีพื้นฐานมาจากพระคัมภีร์ตอนที่มีงานเลี้ยงแต่งงานที่หมู่บ้านคานา(Jn:2:1-11) พระเยซูเจ้าก็ได้รับเชิญไปในงานเลี้ยงด้วย เหล้าซึ่งเป็นเครื่องดื่มสำคัญของงานหมดลง แม่พระกลัวว่าเจ้าภาพจะเสียหน้าจึงไปบอกพระเยซูให้ทำอะไรบางอย่าง พระองค์บอกว่าความคิดของแม่พระไม่ใช่ความคิดของพระองค์และที่สำคัญเวลาของพระองค์ยังมาไม่ถึง แต่แม่พระก็ได้บอกคนใช้ของบ้านว่าถ้าพระองค์สั่งให้ทำอะไรก็จงทำตาม และที่นั่นพระองค์ก็ได้เปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นชั้นดี จากจุดนี้เองที่นักเทศน์คาทอลิกหลายคนถือว่าแม่พระมีอิทธิพลต่อพระเยซูเจ้าแน่นอน และได้ยกมาเป็นข้ออ้างสนับสนุนความศรัทธาต่อแม่พระในเรื่องการวอนขอ กระนั้นก็ตามอย่างที่กล่าวแล้ว ไม่มีใครสามารถรับรองได้แน่นอนว่าเมื่อวอนขอจากแม่พระแล้วจะได้ตามต้องการ ในธรรมเนียมคาทอลิกมีการภาวนาสายประคำ คาทอลิกหลายคนภาวนาจนสายประคำขาดไปหลายสายก็ยังไม่ได้ตามที่ต้องการเลย อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดในการภาวนาไม่ใช่เรื่องที่ว่าได้ตามที่ขอหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ว่าคนนั้นๆได้เพิ่มพูนความเชื่อ ความหวังไว้ใจและความรักในพระเป็นเจ้ามากเพียงใด และการภาวนาต้องทำให้บุคคลนั้นๆก้าวหน้าในชีวิตคุณธรรม นำความรักและคำสอนของพระเยซูเจ้ามาเป็นภาคปฏิบัติในชีวิต ความรักคือเป้าหมายสูงสุดของการภาวนา ไม่ใช่การขอว่าจะได้หรือไม่ได้


มีจุดที่อยากอธิบายต่ออีกนิดคือ ธรรมเนียมคาทอลิกให้ความสำคัญกับชีวิตหลังความตายมาก คนดีที่ตายไปแล้วเราให้ความเคารพนับถือ (จะระดับไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง) คาทอลิกเชื่อว่าชีวิตมิได้หยุดอยู่เพียงแค่บนโลกนี้แต่ยังดำเนินต่อไปหลังความตายด้วย เป็นชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณและเราสามารถติดต่อกับเขาเหล่านั้นได้ในระดับของการภาวนาและการอุทิศกุศลไปให้หากเขายังต้องผ่านการชำระ ปัญหาเรื่องชีวิตหลังความตายนี้ยอมรับว่ายังไม่แจ้งชัดนัก การอธิบายด้วยเหตุผลใดๆล้วนมีความจำกัดทั้งสิ้น พี่น้องโปรแตสแตนท์บางคนไม่เห็นด้วยกับการที่ฝ่ายคาทอลิกให้ความสำคัญกับบรรดานักบุญและแม่พระมากเกินงามเพราะเกรงว่าจะไปบดบังรัศมีและความสำคัญของพระเยซูเจ้า อันนี้ผมเห็นว่าเป็นความวิตกที่มีเหตุผลพอสมควรแต่ก็ไม่น่าจะถึงระดับที่ต้องบอกว่าคาทอลิกงมงาย ในโลกของศาสนาที่เกี่ยวพันกับความลี้ลับนั้น เหตุผลกับความจริงมักจะล้ำเส้นกันอยู่เสมอ เชื่อเถิดครับ ในโลกนี้ยังมีคนพร้อมที่จะอยู่กับความงมงายด้วยความเต็มใจตราบใดที่เหตุผลไม่ได้ทำให้หัวใจของเขารู้สึกอิ่ม ศาสนาจึงมองข้ามมิติของความลี้ลับไปไม่ได้ ถ้าศาสนาไร้ซึ่งมิตินี้แล้ว มันก็ไม่ใช่ศาสนาแต่เป็นเพียงลัทธิที่ลงท้ายด้วยคำว่า ..นิยม..หรือ ism เท่านั้นเอง

6. เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์


โรมันคาทอลิก : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

สนับสนุนให้คริสตสมาชิกกราบไหว้รูปปั้นของพระแม่มารีย์, รูปปั้นของอัครทูตและรูปปั้นของนักบุญทั้งหลายในการประชุมของศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ.1526 ที่เมืองเตรนต์ (Trent) ได้เสนอว่า "คริสตจักรควรจะมีรูปปั้นของนักบุญและการกราบไหว้ก็เป็นสิ่งที่สมควรทำ"

กรุงโรมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตคริสตสมาชิกทุกคนต้องเดินทางมาแสวงบุญที่นี่ (เหมือนกับการที่คนมุสลิมต้องไปแสวงบุญที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย)

สิ่งของเครื่องใช้ของพระเยซู พระแม่มารีย์และเหล่านักบุญเป็นสิ่งของที่ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดชในการรักษาโรคและการตอบคำอธิษฐาน เช่น ผ้าคลุมพระพักตร์ของพระเยซู สายรัดเอวของนางมารีย์

โปรแตสแตนท์ : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

ห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน อพยพ 20:4-5 "อย่าทำรูปเคารพสำหรับตน เป็นรูปสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าเบื้องบน หรือแผ่นดินโลกเบื้องล่าง หรือในน้ำใต้แผ่นดิน อย่ากราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้นเพราะเราคือพระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่หวงแหน ให้โทษบิดาตกไปถึงลูกหลานของผู้ซึ่งชังเราจนถึงสามชั่วสี่ชั่วอายุคน"

พระเจ้าสถิตอยู่ในคริสตจักรของพระองค์ คือ ในตัวของผู้ที่เชื่อไม่ใช่เฉพาะเจาะจงที่มหาวิหารในกรุงโรม (มัทธิว 18:20 "ด้วยว่ามีสองสามคนประชุมกันที่ไหนๆ ในนามของเรา เราจะอยู่ท่ามกลางเขาที่นั่น")

พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของคริสตชนด้วยพระคุณ ไม่ใช่โดยวัตถุศักดิ์สิทธิ์ทีเรายึดถือ หรือสูตรคาถาใดๆ : มัทธิว 6:7-8 "แต่เมื่ออธิษฐาน อย่าพูดพล่อยๆ ซ้ำซาก เหมือนคนต่างชาติกระทำเพราะเขาคิดว่าพูดมากหลายคำ พระเจ้าจึงจะทรงโปรดฟัง อย่าทำเหมือนเขาเลย เพราะสิ่งไรซึ่งท่านต้องการ พระบิดาของท่านทรงทราบก่อนที่ท่านทูลขอแล้ว"

คำชี้แจง

ข้อ 1) มีความเข้าใจผิดอยู่มากในเรื่องนี้ ฝ่ายคาทอลิกยอมรับว่าการให้ความเคารพบรรดานักบุญ พระธาตุของนักบุญ และรูปปั้นหรือภาพวาดของนักบุญ(จะด้วยวิธีกราบหรือไหว้หรือคุกเข่าหรือจูบหรือเอามาใส่ไว้บนศีรษะหรือจะด้วยวิธีใดตามธรรมเนียมท้องถิ่น)นั้นเป็นที่ยอมรับได้ มีประกาศอย่างเป็นทางการในเอกสารของสังคายนาเมืองเทรนต์ที่เริ่มในปีค.ศ. 1545-1563 (ไม่ใช่ปี 1526 ดังที่เขียนข้างบน) เรื่องของเรื่องคือว่า ท่าน ยอห์นไวคริฟและท่านฮุส (Wyclif and Hus) ได้กล่าวโจมตีฝ่ายคาทอลิกอย่างหนักในเรื่องการให้ความเคารพต่อนักบุญและแม่พระของชาวคาทอลิก เขากล่าวหาว่านั่นเป็นสิ่งที่ขัดกับสปิริตของการเป็นคริสตชน ขณะที่ท่านลูเทอร์ยอมรับว่าการให้ความเคารพนักบุญนั้นไม่ผิดอะไรแต่การวอนขอให้ท่านนักบุญเหล่านั้นช่วยเหลือและการถือว่านักบุญจะวอนขอแทนคนเราได้นั้นท่านไม่เห็นด้วย ส่วนท่านสวิงลีนั้นเรียกร้องให้มีการทำลายรูปปั้นทั้งหลายให้หมดเพราะถือว่าเราต้องเคารพพระเจ้าแต่ผู้เดียว ท่านคัลวินถือว่าการเคารพรูปปั้นทั้งหลายเป็นการทำผิดบาปเคารพรูปปฏิมาและพิธีทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นงานของปีศาจ จากเสียงเรียกร้องและโจมตีเหล่านี้เอง ฝ่ายคาทอลิกจึงต้องวางระเบียบและชี้แจงคือ ฝ่ายคาทอลิกยอมรับการให้ความเคารพรูปนักบุญต่างๆได้โดยให้เข้าใจว่ารูปเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งสร้างที่ใช้แทนบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่อยู่ในสวรรค์กับพระเจ้าแล้ว ในตัวของรูปเหล่านั้นไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์หรือมีฤทธิ์อำนาจใดๆ สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงตัวแทนที่เห็นได้เพื่อช่วยให้ระลึกถึงบุคคลผู้นั้นในสวรรค์ การให้ความเคารพพระธาตุของบรรดานักบุญก็เช่นกัน คาทอลิกยอมรับว่าบรรดานักบุญยังคงทำงานเพื่อความรอดร่วมมือกับพระเยซูเจ้าบนสวรรค์ การวอนขอท่านเหล่านั้นเพื่อวอนขอพระเจ้าอีกทีหนึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แน่นอนพระหรรษทานและพระคุณต่างๆเป็นพระเจ้าเองที่ประทานให้ การอวยพรเป็นสิ่งที่ดีงาม ส่วนจะได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เปรียบดังการขอพรจากบิดามารดาหรือผู้หลักผู้ใหญ่เป็นธรรมเนียมที่ดีงามไม่ควรจะดูหมิ่นว่าเหลวไหล การให้ความเคารพนักบุญมีมิติที่ลึกซึ้งไปกว่าเรื่องขอได้หรือไม่ได้แต่ยังเป็นเรื่องของความเชื่อว่าวิญญาณไม่ได้สูญสิ้น ยังอยู่กับพระเจ้า มีมิติของความตาย วิญญาณ ความเลื่อมใส และชีวิตหลังความตายแฝงอยู่ด้วย แน่นอนฝ่ายคาทอลิกจะประณามใครก็ตามที่ถือว่าวัตถุต่างๆเหล่านั้นศักดิ์สิทธิ์หรือมีฤทธิ์มีอำนาจในตัวมันเองเพราะอำนาจล้วนมาจากพระเจ้าไม่ได้มาจากวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น ระหว่างคาทอลิกและโปรแตสแตนท์จึงมีความเข้าใจคำว่า รูปปฏิมา(idols)ในความหมายที่ต่างกัน (ดูเอกสารสังคายนาเทรนต์ข้อที่ 1821-1823 และน่าสังเกตว่าไม่มีคำพูดที่ว่า..คริสตจักรควรจะมีรูปปั้นของนักบุญและการกราบไหว้ก็เป็นสิ่งที่สมควรทำ...อยู่ในเอกสารดังกล่าว)

ข้อ 2) ที่บอกว่ากรุงโรมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันนี้เป็นการเข้าใจตามประสานักท่องเที่ยวเท่านั้นเองทางคาทอลิกไม่ได้มีกฎเกณฑ์ให้ทุกคนต้องไปแสวงบุญที่กรุงโรมเลย และต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของกรุงโรมให้ดี กรุงโรมนั้นเริ่มเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโรมัน ต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันเสื่อม คริสตศาสนาเริ่มมีอิทธิพลและอำนาจของพระสันตะปาปาก็เป็นที่ยอมรับ จนพระสันตะปาปากลายเป็นประมุขทั้งของพระศาสนจักรและอาณาจักร คำว่ากรุงโรมในยุคกลางนั้นอยู่ในความปกครองของพระสันตะปาปาจริง แต่ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้วอำนาจทางการเมืองของพระสันตะปาปาถดถอยไปเหลือเพียงแค่อำนาจทางศาสนจักร ขอบเขตที่ดินก็เหลือเพียงแค่เขตรัฐวาติกันที่กินอาณาเขตเล็กกว่าเกาะรัตนโกสินทร์หรืออย่างมากก็ประมาณสามเท่าของสนามหลวงเท่านั้นเอง พระสันตะปาปาประทับอยู่ที่วาติกันที่มีวิหารนักบุญเปโตรเป็นจุดเด่นที่ใช้สำหรับพิธีกรรมทางศาสนา คาทอลิกไม่เคยมีข้อบังคับใดๆว่าให้คาทอลิกต้องไปเยี่ยมกรุงโรมหรือวาติกันเพราะการบังคับเช่นนั้นจะเป็นภาระแก่คนที่ยากจน ที่บอกว่าทุกคนต้องไปนั้นน่ากลัวเป็นคำพูดของบริษัททัวส์มากกว่า คาทอลิกถือว่าการแสวงบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆเป็นเรื่องของธรรมเนียมเพิ่มพูนความศรัทธาส่วนตัวไม่บังคับ และจะไปที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นที่กรุงโรม วัดทุกแห่งคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คาทอลิกควรไปภาวนาและเยี่ยมเยียนพระเยซูเจ้าในรูปแผ่นปังศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นขอย้ำอีกที คาทอลิกไม่เคยมีกฎใดๆที่ต้องให้ไปแสวงบุญที่กรุงโรมแน่นอน ถ้าจะไปเที่ยวเพราะมีเงินพอที่จะจ่ายคาตั๋วเครื่องบินและค่าเดินทางก็เป็นเรื่องความศรัทธาส่วนตัวไม่เกี่ยวกับคำสอนและข้อบังคับใดๆของพระศาสนจักรคาทอลิก


ข้อ 3) มีข้อผิดพลาดที่ต้องชี้แจง ในธรรมเนียมคาทอลิกที่ยอมรับการให้ความเคารพต่อวัตถุมงคลและพระธาตุต่างๆนั้น ไม่ได้หมายความว่าคาทอลิกยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้นมีฤทธิ์เดชในตัวมันเอง สิ่งเหล่านี้เพียงแต่เป็นสื่อกลางทำให้ระลึกถึงเจ้าของ ในศาสนาคาทอลิกจึงมีวัตถุมงคลต่างๆมากมาย และแน่นอนเรายอมรับว่ามีของปลอมเยอะแยะด้วยเช่นกัน สิ่งใดเป็นของแท้ในแง่ของประวัติศาสตร์ก็จะมีการพิสูจน์และศึกษาอย่างเป็นวิชาการ ไม่ใช่เพื่อหาว่าฤทธิ์อยู่ตรงไหน แต่เพื่อนำไปเป็นหลักฐานทางวิชาประวัติศาสตร์ยืนยันความมีตัวตนของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจจะหาหลักฐานอื่นใดพิสูจน์ได้ เช่นเรื่องผ้าเช็ดพระพักตร์ของพระเยซูก็มาจากธรรมเนียมที่ว่า ตอนพระองค์แบกกางเขนไปเนินกัลวารีโอนั้น มีหญิงชื่อเวโรนิกาเอาผ้าขาวคลุมศีรษะของนางมาเช็ดพระพักตร์พระองค์แล้วภายหลังก็ปรากฏรูปพระพักตร์ติดที่ผ้าขาวนั้น หลักฐานนี้เป็นเรื่องเล่าต่อกันมาเท่านั้นเองและผ้านั้นอยู่ที่ไหนก็ไม่มีหลักฐาน ดังนั้นนักประวัติศาสตร์คาทอลิกลงความเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมาเท่านั้นเอง เรื่องเล่านี้นำมาเป็นสิ่งเพิ่มพูนความศรัทธาในการเดินกางเขน 14 ภาคในธรรมเนียมคาทอลิก(คำว่า เวโรนิกา มาจากภาษาลาตินว่า vera แปลว่า จริง + eikon แปลว่า ภาพ แปลรวมๆก็คือ ภาพจริง) ส่วนหลักฐานที่มีจริงคือ ผ้าห่อพระศพหรือผ้าตราสังข์ที่เมืองตุริน ประเทศอิตาลี หลักฐานนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน คาทอลิกส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นผ้าห่อพระศพพระเยซูเจ้าจริงและมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เรื่อยๆมาจนถึงปัจจุบัน บางครั้งก็ใช้วิทยาการใหม่ๆเช่น พิสูจน์คาบอน 14 ต่อมาก็เห็นว่าได้ข้อสรุปไม่ถูกต้อง ดังนั้นพระศาสนจักรคาทอลิกยังเปิดกว้างให้มีการพิสูจน์ด้วยวิทยาการที่ล้ำสมัยเท่าที่จะหาได้ ส่วนเรื่องสายรัดเอวของแม่พระนั้นไม่เคยได้ยินว่ามีที่ไหน ถ้ามีก็คงจะเป็นบริษัททัวส์สร้างเรื่องขึ้นมาเองอีกนั่นแหล่ะ เรื่องความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธาทั้งหลายนั้นฝ่ายคาทอลิกยอมรับแต่ก็ระวังมาก อะไรที่ศักดิ์สิทธิ์แท้ไม่แท้ต้องผ่านการสืบสวนและตรวจสอบหลายขึ้นตอนก่อนที่จะประกาศว่าอะไรที่ควรเคารพ มีที่ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากมายที่พระศาสนจักรประกาศว่าเชื่อถือไม่ได้หรือเป็นเพียงเรื่องตามธรรมชาติ

7. เรื่องบาปกำเนิดและการไถ่บาป


โรมันคาทอลิก : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

พระแม่มารีย์เป็นผู้ที่ไม่มีบาปกำเนิด ( หมายถึงบาปที่ตกทอดจากอดัมและเอวา )

พระสันตะปาปาเป็นผู้ที่ถือกุญแจคลังกุศล (คลังกุศล คือ ที่ที่พระแม่มารีย์และนักบุญทั้งหลายได้ทำบุญที่มีมากนำมารวมกันที่นี่และสามารถใช้คลังกุศลทดแทนบาปของคริสตชนได้)

พระสันตะปาปาสามารถตั้งเงื่อนไขที่จะรับความรอดได้ เช่น ทุกคนที่อาสาไปรบในสงครามครูเสดจะได้รับการยกบาปทั้งหมด ผู้ที่บริจาคเงินซื้อใบบุญไถ่บาปจะได้รับการยกโทษบาป และช่วยให้พี่น้องพ้นจากแดนชำระได้

โปรเเตสแตนท์ : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

มนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป : โรม 3:10 "ตามพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า ไม่มีผู้ใดเป็นคนชอบธรรมสักคนเดียว ไม่มีเลย"

พระเยซูคริสต์เป็นผู้เดียวที่มีสิทธิอำนาจการยกบาป 1 ยอห์น 1:9 "ถ้าเราสารภาพของเรา พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น"

คำชี้แจง

ข้อ 1) กล่าวถูกต้องแล้วว่าคาทอลิกเชื่อว่าแม่พระหรือพระแม่มารีย์นั้นปราศจากบาปกำเนิดหรือผลของบาปที่ตกทอดมาจากอาดัมและเอวา เรื่องบาปกำเนิดนั้นเข้าใจยาก จากคำสอนเดิมๆที่ถ่ายทอดมา คือเรารู้เพียงว่าเพราะบาปหรือความผิดของบิดามารดาคู่แรกนั้นทำให้ธรรมชาติของมนุษย์เกิดความโน้มเอียงไปในทางชั่ว และทำให้ความสัมพันธ์กับพระเจ้าถูกตัดขาดไป และเรารู้ว่าพระเยซูเจ้ามาไถ่บาปและกอบกู้มนุษยชาติจากผลของบาปนั้น พูดๆง่ายๆคือเราไม่รู้เรื่องบาปกำเนิดจนกระทั่งเรารู้ว่าพระเยซูเจ้ามาเพื่อไถ่บาป เรารู้ผลก่อนรู้เหตุ หรือรู้เหตุจากการที่ผลได้เกิดขึ้นแล้วเราถึงไล่ไปที่เหตุ จุดนี้เองจึงกลายมาเป็นพัฒนาการเรื่องบาปกำเนิด นักคิดยุคใหม่เช่น คาร์ล ลาเนอร์ มองบาปกำเนิดในแง่มุมอื่นที่ต่างออกไปคือ บาปกำเนิดนั้นเป็นเรื่องของการพระหรรษทานศักดิ์สิทธิ์กร(sanctifying grace) ขาดพระพรของพระจิต เป็นสภาพที่ตรงข้ามกับพระประสงค์ของพระเจ้า มีนักเทววิทยาหลายคนก็ให้น้ำหนักกับความหมายของบาปที่เกิดจากสังคม สภาพแวดล้อมมากกว่าจะเป็นบาปที่ติดตัวมาจากบิดามารดาในแง่สืบสายพันธุ์ สรุปแล้วเรื่องบาปกำเนิดยังเป็นปัญหาที่ไม่ชัดแจ้งว่าหมายถึงอะไร ฝ่ายคาทอลิกยังเปิดให้มีการถกเถียงและค้นคว้าหาความหมายต่อไป

ข้อ 2) ผมไม่ทราบว่าไปเอาความคิดเรื่องคลังกุศลมาจากไหนมาใส่ให้คาทอลิกเรา ที่บอกว่าพระสันตะปาปาคือผู้ถือกุญแจคลังกุศลนั้นคงจะเป็นการจับแพะชนแกะแบบเหมารวมเหมือนเดิม ได้พูดข้างต้นแล้วว่า ภาพลักษณ์ที่ว่านักบุญเปโตรได้รับมอบกุญแจสวรรค์นั้นเป็นภาษาสัญลักษณ์หมายถึงท่านมีอำนาจในการอภัยบาป เป็นอำนาจที่พระเยซูเจ้ามอบให้ กุญแจนี้ไม่ใช่กุญแจคลังกุศลอะไรหรอกครับ หรืออาจจะสับสนกับอำนาจของพระสันตะปาปาที่มีสิทธิ์มอบพระพรที่เรียกกันว่า พระคุณการุญ (Indulgences) พระพรนี้เป็นสิทธิ์ที่พระสันตะปาปาใช้เพื่อปลดโทษหรือผลของบาปที่เรียกว่า โทษชั่วคราว (Temporal punishment) ตามกฎหมายของพระศาสนจักรข้อ 992-997 นั้นระบุไว้ชัดเจนเรื่องพระคุณการุญ (Indulgences) ทีนี้เรื่องนี้กลายมาเป็นปัญหาในยุคกลางเมื่อมีเรื่องเงินๆทองๆเข้ามาเกี่ยวข้อง มีนักเทศน์ฝีปากดีแต่ความคิดสั้นหลายคนในยุคกลางได้นำสิทธิ์ของพระสันตะปาปานี้ไปใช้เพื่อเรี่ยไรเงินมาซ่อมแซมและขยายวิหารนักบุญเปโตร คงจะปากไวไปหน่อยหรือตกกระไดพลอยกระโจนตามสถานการณ์จึงกลายเป็นการขายพระคุณการุญตัวนี้ไป ท่านลูเทอร์และหลายคนในยุโรปทางเหนือในยุคนั้นที่ไม่ค่อยชอบคนทางอิตาลีนักก็เลยยกมาเป็นข้ออ้างจี้จุดอ่อนของฝ่ายพระสันตะปาปาที่อยู่ทางโรมและเป็นชนวนลุกลามไปสู่เรื่องอื่นๆ ฝ่ายคาทอลิกกว่าจะตั้งตัวได้และเพลาๆเรื่องสิทธิ์ของพระสันตะปาปาประการนี้ลงก็ค่อนข้างจะสายไปแล้ว กระนั้นก็ตามต้องยอมรับว่า สิทธิ์การให้พระพรนี้เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของพระสันตะปาปาแน่นอน (น่าสังเกตว่าการสร้างวิหารนักบุญเปโตรนั้นในตัวของมันเองไม่ผิดอะไร วิหารก็ยืนเด่นเป็นสง่ามาจนทุกวันนี้ และทุกศาสนาก็หาทุนสร้างวิหารกันทั้งสิ้นไม่เว้นแม้แต่นักปฏิรูปอย่างโปรแตสแตนท์สายต่างๆ ความผิดมันอยู่ที่ความโลภและคอรัปชั่นของคนต่างหาก) ส่วนที่บอกว่าแม่พระและนักบุญได้ทำบุญเก็บไว้ในคลังและนำมาใช้เพื่อชดเชยบาปของคริสตชนนั้นพูดกันไปเอง ไม่มีในคำสอนของคาทอลิกหรอกครับ การวอนขอพรจากแม่พระนั้นแม่พระก็วิงวอนขอจากพระเยซูเจ้าทั้งสิ้น พระพรทุกอย่างมาจากพระเจ้าไม่ได้มาจากกองทุนอะไรทั้งหลายที่เข้าใจกันหรอก และพระองค์จะให้หรือไม่ให้ก็เป็นเรื่องของพระองค์เช่นกัน แต่น่าสังเกตว่า พระเยซูเจ้าเองบอกให้ขอ ให้ภาวนาไปเรื่อยดังสำนวนที่ว่า ใครขอก็จะได้รับ ใครค้นหาก็จะพบ ใครเคาะประตูก็จะเปิดให้ (Mt.7:7) ถ้าหากขอก็แล้ว วิงวอนก็แล้วยังไม่ได้รับอีกก็ให้ถือว่าสิ่งที่เราขอนั้นไม่เหมาะกับเราจริงๆ หรือเราขอในสิ่งที่เป็นภัยกับเราในระยะยาวที่เรามองไม่เห็น ถ้าคิดอย่างนี้ก็สบายใจ สรุปแล้วเรื่องคลังกุศลหรือกองทุนกุศลอะไรนั้นไม่มีในธรรมเนียมคาทอลิกหรอกครับ คงจะมองคาทอลิกแล้วไปตีความเองโดยไม่ถามไถ่ในรายละเอียดมากกว่า หรือถ้าจะมีจริงๆในยุคกลางก็คงจะเป็นการตีความหมายของอำนาจของพระสันตะปาปาด้วยสายตาของนักปฏิรูปที่มองอะไรก็น่าเปลี่ยนแปลงไปหมด เพราะเหตุนี้เองในปัจจุบันหากจะมีการใช้อำนาจนี้ก็จะใช้อย่างระมัดระวังและอธิบายอย่างแจ่มชัดเพื่อคนจะไม่นำไปหาประโยชน์ส่วนตัวจนกลายเป็นปัญหาอีก

ข้อ 3) ก็สืบเนื่องมาจากข้อสองคือ พระสันตะปาปามีสิทธิ์ในการยกบาป แต่เมื่อเข้ามาสู่สถานการณ์คับขันเรื่องจวนตัวที่ต้องปกป้องเยรูซาแลมดินแดนศักดิ์สิทธิ์จากการรุกรานของพี่น้องมุสลิมในศตวรรษที่ 11-13 พระสันตะปาปาในฐานะผู้นำทั้งพระศาสนจักรและอาณาจักรโรมันที่เคยปกครองดินแดนเยรูซาแลมตั้งแต่สมัยของพระเยซูเจ้านั้นก็จำต้องทำหน้าที่หาทหารไปปกป้องดินแดนในอาณัติที่เยรูซาแลมซึ่งเรียกว่า ดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นที่เกิดและตายของพระเยซูเจ้า (คำว่าดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้ส่วนตัวผมชักจะไม่ชอบคำนี้เท่าไหร่แล้วเพราะมันเต็มไปด้วยเลือดตลอดสองพันปีที่ผ่านมา ทั้งเลือดคริสตชนและเลือดมุสลิมและเลือดยิว น่ากลัวว่าเลือดจะต้องล้างแผ่นดินนี้ไปอีกนาน) พระสันตะปาปาหาทหารและคนใจศรัทธาไปรบปกป้องดินแดน(พูดเรื่องนี้แล้วเห็นเงาของบินลาเดนและตอลิบันลางๆ) เป็นสงครามต่อเนื่องกันถึง 5 ครั้งใหญ่ๆ แต่สงครามนอกอาณาเขตเช่นนี้สรุปแล้วฝ่ายคริสต์แพ้มากกว่าฝ่ายมุสลิม ครั้งแรกเริ่มในปีในปี 1096 อันสืบเนื่องมาจากการต่อต้านอิทธิพลของมุสลิมที่คุกคามสเปนและชิชิลีในปีก่อนๆ ครูเสดครั้งนี้ใช้เวลา 3 ปีและเพื่อจะระดมคนได้มากพระสันตะปาปาก็ได้ใช้สิทธิ์ที่มีในเรื่องการอภัยบาปนั้นมาเป็นข้อชักชวนให้คนไปรบ ใครที่ถือเครื่องหมายกางเขนไปรบก็จะได้รับการอภัยจากโทษของบาป คูเสดครั้งนี้ฝ่ายคริสต์ชนะ ครั้งที่ 2 เริ่มอีกในปี 1146-1148 มีนักบุญเบอร์นาร์ดแห่งแคลโวซ์เป็นหัวหอก ครั้งนี้แม้ไม่ชนะเด็ดขาดแต่ก็ยึดที่มั่นสำคัญไว้ได้ ครั้งที่ 3 เริ่มในปี 1189-11992 โดยการนำของพระเจ้าเฟรดริกที่ 1 พระองค์สิ้นพระชนม์ขณะเดินทางไปเยรูซาแลมและมอบหน้าที่การนำทัพแก่พระเจ้าริชาร์ดที่เรียกกันว่า ริชาร์ดหทัยสิง ผลของการรบจบลงที่มีการทำสัญญากับฝ่ายมุสลิมว่าคริสตชนจะได้รับความคุ้มครองด้านความปลอดภัยในการไปแสวงบุญที่เยรูซาแลม ส่วนมุสลิมนั้นครอบครองดินแดนต่อไป ครูเสดครั้งที่ 4 เริ่มในปี 1202-1204 การรบครั้งนี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีผลดีอะไร แถมเกิดการบาดหมางระหว่างคริสตชนตะวันตก(โรม)กับคริสตชนตะวันออก(คอนสแตนติโนเปิ้ล)และยิ่งทำให้ประวัติศาสตร์ยุ่งเหยิงมากขึ้นไปอีก สงครามคูเสดครั้งที่ 5 (1217-1221)นำโดยพระเจ้าเฟรดริกที่ 2 ซึ่งเมื่ออ่านประวัติศาสตร์แล้วก็เห็นว่ามันแปลกๆ เพราะพระเจ้าเฟรดริกที่ 2 นั้นถูกพระสันตะปาปาขับออกจากพระศาสนจักรแล้ว การทำสงครามครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของพระเจ้าเฟรดริกเอง มีชัยชนะเกิดขึ้นแต่ไม่ชนะเด็ดขาด ส่วนใหญ่จะแพ้มากกว่าและไม่สามารถกอบกู้เยรูซาแลมจากฝ่ายมุสลิมได้ สรุปสงครามคูเสดแล้ว เสียมากกว่าได้ แต่ถ้ามองในแง่ดีก็จะเห็นว่ามีหลายอย่างเกิดขึ้นมาจากคูเสดด้วย ระบบธนาคารก็เริ่มจากสงครามนี้ การติดต่อค้าขายกับดินแดนอาหรับก็มีมากขึ้น เท็คนิคการเดินเรือก็พัฒนาขึ้น ฯลฯ ในแง่เสียหายที่มากหน่อยคงจะเป็นการใช้อำนาจการอภัยโทษบาปมากไปหน่อยจนกลายมาเป็นการขายพระพรไป(ในสายตาของฝ่ายโปรแตสแตนท์ในยุคกลาง)

ขอกล่าวถึงเรื่องการชื้อใบบุญไถ่บาปหน่อย คำว่าใบบุญ นี้น่าจะเป็นใบเสร็จของคณะกรรมการวัดที่หาเงินบริจาคเพื่อนำปัจจัยส่งไปยังส่วนกลางเพื่อสมทบทุนการบูรณะวิหารนักบุญเปโตร ที่ให้ใบเสร็จก็เพื่อป้องกันปัญหาวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่งนั่นเอง จุดนี้ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่าเขาหาเงินกันอย่างไร จึงค้นคว้าอ่านจากหนังสือประวัติศาสตร์ทั้งสายคาทอลิกและสายโปรแตสแตนท์ มีเรื่องที่น่าสนใจคือ ในปี 1452 พระสันตะปาปา นิโคลัสที่ 5 (1447-1455) อนุมัติแผนการขยายวิหารนักบุญเปโตรให้กว้างขึ้น (แน่นอนต้องการเงินในการก่อสร้าง) ต่อมาพระสันตะปาปายูลีอุสที่ 2 (1503-1513)ได้อนุมัติให้บรามานเต้ออกแบบวิหารใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม(อันนี้ต้องการเงินเพิ่มอีกแน่นอน) ช่วงนี้เองที่เดือดร้อนบรรดานักเทศน์ทั้งหลายที่อาศัยความนอบน้อมต่อพระสันตะปาปาต้องพยายามหาเงินเพิ่มสมทบทุนช่วยเหลือ ที่เยอรมันนี มีนักเทศน์คณะโดมินิกันคนหนึ่งชื่อ โยฮัน เท็ตเซล (Johann Tetzel 1470-1514) จะด้วยลืมไปหรือปากพาไปก็ไม่ทราบได้พูดถึงความสำคัญของพระคุณการุญที่พระสันตะปาปามอบให้แก่คนที่ช่วยเหลือในการสร้างวิหารว่า " เมื่อเงินเหรียญหนึ่งๆตกลงไปในตู้บริจาคทานเมื่อไหร่ เวลานั้นล่ะที่วิญญาณจะหลุดจากแดนชำระ" (as the coin into the coffer rings, the soul from purgatory springs!) เป้าหมายของการรณรงค์หาเงินครั้งนี้ก็เพื่อสมทบทุนช่วยเหลือการก่อสร้างวิหารนักบุญเปโตร แต่เมื่อเอาเข้าจริงๆแล้วนักประวัติศาสตร์เล่าว่าเงินไปถึงมือคณะกรรมการก่อสร้างวิหารที่กรุงโรมเพียงครึ่งเดียว(วัดฝรั่งครึ่งหนึ่งกรรมการฝรั่งครึ่งหนึ่ง) ส่วนที่เหลือนำไปใช้ในการจ่ายหนี้ของหลายคนเช่น หนี้ที่สังฆราช อัลเบิร์ตแห่งแบรนเดนเบิร์กทำไว้เพราะเขาได้ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายและแถมเอาเงินไปซื้อเสียงให้คนสนับสนุนเขาให้เป็นพระอัครสังฆราชแห่งแม็งซ์ด้วย เพราะเหตุนี้เขาจึงต้องการเงินไปจ่ายคือเงินที่กู้มาจากธนาคารของโยฮันเนส ฟักเก้อ นักเทศน์โยฮัน เท็ตเซลก็คือมือขวาของอัครสังฆราชอัลเบิร์ตนั่นเอง การไม่โปร่งใสที่เยอรมันนีนี้เองที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปเกิดขึ้นโดยท่านลูเทอร์เป็นผู้จุดชนวนและลุกลามไปในอาณาจักรรอบข้างเช่น สวิสเซอร์แลนด์ ฮอลแลนด์และยุโรปตอนเหนือ สรุปแล้วเงินสร้างวิหารนักบุญเปโตรแต่เงินก็คือสิ่งที่ทำลายจิตวิญญาณของวิหารด้วยเช่นกัน จุดนี้คาทอลิกปฏิเสธไม่ได้จำต้องมีการแก้ไขและปฏิรูปจากภายใน และเราก็เห็นว่าในประวัติศาสตร์ได้เกิดนักบุญหรือคนดีมากมายมาช่วยกันปฏิรูปและแก้ไขให้พระศาสนจักรอยู่กับร่องกับรอย เป็นการปฏิรูปที่ถูกต้องกว่า เพราะยังวางอยู่บนพื้นฐานของอัครธรรมทูตที่สืบต่อมาจากพระเยซูเจ้าโดยตรง

8. เรื่องแดนชำระ


โรมันคาทอลิก : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

หลังจากที่คริสตชนตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะต้องไปอยู่แดนชำระเพื่อชำระความบาปที่ได้ทำไปขณะที่มีชีวิตอยู่บนโลก บางคนอาจจะถูกชำระเป็นร้อยๆ ปี ซึ่งเจ็บปวดทุกข์ทรมาน แต่ก็มีวิธีช่วยได้จากญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในโลก ด้วยการนำเงินถวายเข้าคลังกุศลเพื่อช่วยวิญญาณที่ทนทุกข์เหล่านี้

โปรเเตสแตนท์ : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องแดนชำระในพระคัมภีร์ ตรงกันข้ามกลับให้ความมั่นใจต่อคริสตชนอย่างหนักแน่นในความรอดที่จะได้รับเพราะเหตุความเชื่อในพระเยซู : โรม 8:1 "เหตุฉะนั้นการลงโทษจึงไม่มีแก่คนทั้งหลายที่อยู่ในพระเยซูคริสต์" และยอห์น 3:16 "เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์"

คำชี้แจง

ข้อ 1) คาทอลิกเชื่อว่าเมื่อคนตายแล้วหากวิญญาณของเขาบริสุทธิ์ก็จะเข้าสู่สวรรค์เลย หากวิญญาณของเขายังมีมลทินบาปหรือยังไม่บริสุทธิ์พอเขาก็ต้องผ่านการชำระ เรื่องการชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะเข้าพบพระเจ้านี้ คาทอลิกแปลคำว่า ชำระ มาจากคำว่า to purge ที่มาจากภาษาลาติน purgo โดยคนในยุคก่อนมักจะเข้าใจว่าอาศัยไฟเป็นเครื่องชำระ ช่วงเวลาของการชำระนั้นเราเรียกกันในหมู่คาทอลิกไทยว่า ไพชำระ ซึ่งเอามาจากคำว่า Purgatory ในหมู่โปรแตสแตนท์เรียกว่า ดินแดนชำระ อันที่จริงจะเป็นไฟ หรือเป็น ดินแดน ก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แม้ในข้ออ้างอิงจากพระคัมภีร์ก็ไม่แน่ชัดอย่างที่ฝ่ายโปรแตสแตนท์กล่าว กระนั้นก็ตามจะบอกว่าไม่มีเค้าในพระคัมภีร์เลยก็ไม่ได้ เพราะในธรรมเนียมของชาวยิวก็มีการภาวนาและถวายของบูชาเพื่อวิญญาณจะได้รอดพ้นจากความผิดเช่นกัน เช่น 2 Macabee 12:38-46 ; หรือความเข้าใจว่าวิญญาณต้องได้รับการชำระก่อนจะเข้าพบพระเจ้าหรือชดเชยความผิดอย่างบริบูรณ์ก่อนจะพบพระเจ้าได้ เช่น Mt 5:26; Mt 12:44,46: 1 Cor 3: 12-15. พระเยซูเจ้าเองได้ยกคำเปรียบเทียบเรื่องการชำระของวิญญาณในสถานที่เรียกว่า Sheol ในเรื่องของลาซาลัสกับเศรษฐีใน Lk 16:19-31 ดังนี้เป็นต้น คำสอนเรื่องแดนชำระหรือไฟชำระนั้นฝ่ายคาทอลิกยอมรับว่าไม่ชัดเจนในพระคัมภีร์แต่จากธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อถือที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคปิตาจารย์นั้นแจ้งชัด เช่น ท่านแตร์ตุลเลียน นักบุญจัสตินต่างก็สอนว่า คนตายนั้นกำลังรออยู่ในหลุมศพเพื่อการกลับมาครั้งสุดท้าย ท่านออริเจนสอนว่าทุกคนจะรอดแต่ก็ต้องมีการชำระให้บริสุทธิ์ นักบุญออกัสตินเองก็เชื่อผู้ชอบธรรมทุกคนจะเข้าสู่สวรรค์ทันทีเมื่อตายไป แต่ภายหลังเมื่อพิจารณาข้อเขียน 1โครินทร์ 3:12-15 แล้วท่านก็เห็นว่าวิญญาณบางดวงอาจต้องผ่านการชำระก่อน ส่วนที่ว่า จะเป็นไฟชำระหรือแดนชำระนั้นความคิดนี้เริ่มภายหลังในศตวรรษที่ 12 พอมาถึงยุคกลางก็เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า การชำระนี้เกิดขึ้นในสถานที่หนึ่งๆหรือสภาพหนึ่งๆก่อนเข้าสู่สวรรค์ คำสอนเรื่องแดนชำระนี้สังคายนาหลายแห่งได้ยืนยันว่าเชื่อถือได้ เช่น สังคายนาแห่งเมืองลีอองในปี 1274 สังคายนาเมืองฟลอเรนซ์ในปี 1439 สังคายนาเมืองเทรนต์ในปี 1536 สังคายนาวาติกันที่ 2 ในเอกสาร Lumen Gentium no. 51 ดังนี้เป็นต้น คำถามต่อมาคือ การชำระนั้นมีลักษณะเช่นไร บางคนอธิบายว่าเป็นความเจ็บปวดเพราะจะถูกไฟเผาตลอด บางคนก็ว่าเป็นความมืดมิด บางคนอธิบายว่าคำว่าชำระนั้นเป็นเรื่องของความไม่รู้กับความรู้จักพระเจ้า หรือห่างไกลพระเจ้า ห่างไกลจากแสงสว่าง นักเทววิทยายุคใหม่จะมองในแง่ของ วุฒิภาวะของวิญญาณในการรู้พระเจ้ามากกว่าจะมองในลักษณะของการชดใช้โทษหรือใช้หนี้บาป

สรุปแล้ว ธรรมเนียมคาทอลิกนั้นเชื่อเรื่อง สหพันธ์นักบุญ (Communion of Saints)คือคนที่ตายไปแล้วกับเรามนุษย์นั้นติดต่อกันได้ทางการภาวนา เราทำบุญไปหาเขาได้และบุญที่สำคัญยิ่งคือการภาวนาวิงวอนขอพระเจ้าอภัยโทษวิญญาณที่ยังมีมลทินและความบกพร่องเล็กๆน้อยติดตัว ส่วนวิญญาณที่ติดในบาปหนักและอยู่ในนรกนั้น เราไม่สามารถจะช่วยได้เพราะวิญญาณเหล่านั้นปฏิเสธความช่วยเหลือและปฏิเสธพระเจ้าเอง อย่างไรก็ตามคำว่า ติดต่อกันได้ นั้นเรามิได้หมายความว่าพูดคุยกันได้ แต่หมายถึงการอุทิศส่วนกุศลและคำภาวนาไปให้ได้ ส่วนเรื่องวิญญาณกลับมาหรือปรากฏมานั้นไม่ได้อยู่ในข้อความเชื่อจะเป็นไปได้หรือไม่ได้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


จากเรื่องนี้ ก่อนที่บิดาของผมจะตายไป ผมเคยคิดเล่นๆว่า ถ้าบิดาของผมจากไปและมาบอกความจริงเบื้องหลังความตายแก่ผมก็คงจะดี แต่จนป่านนี้ท่านก็ยังไม่มา จะเป็นเพราะอะไรก็ไม่ทราบได้ หรือว่าเป็นเพราะกฎสวรรค์นั้นเคร่งครัด ไม่มีวิญญาณใดสามารถแอบเอาความลับไปบอกมนุษย์ได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าผมก็คงต้องรอจนกว่าจะถึงเวลาที่ผมจะต้องไปพบความจริงเบื้องหลังความตายนั้นด้วยตัวเอง

9. เรื่องพิธีศักดิ์สิทธิ์


โรมันคาทอลิก : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

พิธีศักดิ์สิทธิ์มีด้วยกัน 7 ประการ คือ

ศีลบัพติสมา หรือศีลล้างบาป ผู้ที่รับทุกคนจะได้รับความรอด

ศีลกำลัง ผู้ที่ได้รับศีลนี้จะได้รับพระคุณ 7 ประการ คือ พระดำริ (มีสติของพระเจ้า) สติปัญญา (เข้าใจในสิ่งที่เรา ต้องเชื่อ และต้องปฏิบัติ) ความคิดอ่าน (ตัดสินใจตามความเชื่อ) กำลัง (ต่อสู้กับศัตรูฝ่ายวิญญาณ) ความรู้ (รู้ความจริงแห่งพระศาสนา) ความศรัทธา (รักพระเป็นเจ้าในฐานะเป็นพระบิดา) ความยำเกรง (เคารพพระเป็นเจ้า)

ศีลอภัยบาป เป็นศีลที่ต้องกระทำอย่างน้อยปีละครั้ง โดยต้องไปสารภาพบาปต่อบาทหลวง

ศีลมหาสนิท เชื่อว่าขนมปังและเหล้าองุ่นเมื่อเข้าสู่พิธีจะเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสต์จริง

ศีลเจิมไข้ หรือศีลเสบียง สำหรับคนป่วยหรือคนชรา เพื่อเสริมกำลังในการเดินทางไปพบพระเจ้าหลังความตาย

ศีลบวช เป็นศีลเจิมผู้ที่เข้าดำรงตำแหน่งบรรพชิตของคาทอลิก

ศีลสมรส สำหรับการประสาทพรของพระเจ้าแก่คู่สมรส

โปรเเตสแตนท์ : มีความเห็นและการปฏิบัติ คือ

พิธีศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสต์ ได้สั่งให้ปฏิบัติมีเพียง 2 พิธี คือ พิธีบัพติศมา และพิธีมหาสนิทเท่านั้น : มัทธิว 28:19 "เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติสมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์" และ 1 โครินธ์ 11:23-26 เพราะเรื่องที่ข้าพเจ้าได้มอบไว้แก่ท่านนั้นข้าพเจ้าได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า คือในคืนที่เขาอายัดพระเยซูนั้นพระองค์ทรงหยิบขนมปัง ครั้นขอบพระคุณแล้วจึงทรงหักแล้ว ตรัสว่า "นี่เป็นกายของเรา ซึ่งให้แก่ท่านทั้งหลาย จงกระทำเช่นนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเรา" เมื่อรับประทานแล้ว พระองค์ทรงหยิบถ้วยด้วยอาการอย่างเดียวกัน ตรัสว่า ถ้วยนี้คือพันธสัญญาใหม่ โดยโลหิตของเราเมื่อท่านดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด จงดื่มเพื่อระลึกถึงเรา"

ในเรื่องการแปรสารจากขนมปังและเหล้าองุ่น เป็นพระกายและพระโลหิตเป็นเรื่องที่ไม่ได้กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ ซึ่งขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นอุปกรณ์ที่พระเยซูทรงใช้ เพื่อสื่อความหมายถึงพระกายและพระโลหิตของพระองค์ที่ต้องแตกหักและหลั่งออกเพื่อไถ่โทษบาปของมนุษย์ทุกคน

คำชี้แจง

ข้อ 1) คำสอนเรื่องพิธีศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการนั้นมีมาก่อนการปฏิรูปที่จุดชนวนโดยท่านลูเทอร์เสียอีก ท่านลูเทอร์เองตอนแรกก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับพิธีศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีคำถามถึงพื้นฐานทางพระคัมภีร์ของพิธีศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 เกิดขึ้นในระหว่างผู้ที่เรียกตนเองว่านักปฏิรูปศาสนาสายต่างๆ จากฝ่ายลูเทอร์เอง ฝ่ายคัลวิน ฝ่ายสวิงลี ฝ่ายของไวซ์คลิฟ และในบรรดาผู้ปฏิรูปทั้งหลายนั้นก็มีความเห็นไม่เหมือนกันต่อจำนวนของพิธีศักดิ์สิทธิ์ ฝ่ายคาทอลิกยังยึดมั่นในหลักการเดิมที่บรรดาปิตาจารย์ได้วางไว้บวกกับพิธีต่างๆเหล่านี้เป็นพิธีที่สืบทอดกันมาแต่ยุคแรกของพระศาสนจักรคือมี 7พิธี แน่นอนได้มีการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานคำอ้างอิงจากพระธรรมเดิมและพระธรรมใหม่สนับสนุน พิธีบางอย่างชัดเจน พิธีบางอย่างก็ไม่ชัดเจนและค่อยๆมีการพัฒนาขึ้นมาภายหลัง (คำว่าภายหลังนี้หมายถึงก่อนยุคกลางทั้งสิ้น) ดังได้กล่าวแล้วว่า คาทอลิกนั้นวางรากฐานศาสนาของตนเองไม่ใช่เพียงแต่บนข้ออ้างอิงจากพระคัมภีร์เท่านั้นแต่บนธรรมประเพณีที่บรรดาปิตาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้วางไว้และสืบทอดกันมาด้วย มีหลายมิติเพิ่มเข้ามา การมองศาสนาคาทอลิกจึงต้องมองจากหลายมิติมิใช่จากมิติของพระคัมภีร์อย่างเดียวซึ่งจะไม่พบคำตอบและหลายครั้งก็ไม่ได้ให้คำตอบต่อปัญหาร่วมสมัย นอกนั้นการมองเพียงพระธรรมใหม่โดยไม่โยงไปยังพระธรรมเก่านั้นก็จะก่อให้เกิดการขาดตอนว่าคริสต์ศาสนามีรากฐานโยงใยเกี่ยวพันกับประวัติความรอดที่เริ่มโดยชนชาวยิว จากจุดนี้เองที่ฝ่ายคาทอลิกจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาของชาวยิวในเยรูซาแลมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มันดิ้นไม่หลุดก็เพราะเราเกิดมาจากรากฐานความเชื่อที่เริ่มต้นจากอาบราฮัมนั่นเอง


ในหัวข้อนี้ผมจะขอชี้แจงเรื่องของพิธีศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 ในธรรมเนียมคาทอลิคพอสังเขปและขอยืนยันว่า พิธีทั้ง 7 ล้วนมีรากฐานจากพระคัมภีร์ทั้งเก่าและใหม่ ไม่ใช่การโมเมขึ้นมาตามที่พี่น้องหลายฝ่ายเข้าใจ พิธีศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 นั้นนอกจากจะมีพื้นฐานทางพระธรรมเก่าแลพระธรรมใหม่แล้วยังมีมิติทางเทววิทยาและพัฒนาการที่น่าสนใจเรื่อยมาตลอดสองพันกว่าปี ผู้ที่จะได้รับพิธีบวชเป็นพระสงฆ์ในศาสนาคาทอลิกจำต้องเรียนวิชาพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีเนื่องจากเนื้อหาของวิชานี้มีมากมายนั่นเอง ในที่นี้ผมจะขออ้างเพียงจากพระธรรมใหม่เท่านั้นเพื่อจะได้ไม่ยืดยาวจนเกินไป

พิธีล้างบาป (Baptism)

มีพื้นฐานจากพระคัมภีร์แน่นอนและเป็นพระเยซูเจ้าเองที่ตั้งและพัฒนาแนวความคิดของการล้างในธรรมเนียมของชาวยิวให้มีเนื้อหาใหม่คือ พระองค์มอบพระจิตเจ้าเข้ามามีบทบาทในพิธีล้างใหม่นี้ การล้างจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องหมายอย่างเดียวแต่มีผลในการชำระมลทินบาปด้วยเพราะพระจิตเจ้าประทับอยู่ ข้ออ้างทางพระคัมภีร์ก็คือ

Mk 1: 8-11 พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างจากท่านนักบุญยอห์น

Mt 28:18 พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้ไปประกาศพระวรสารและทำพิธีล้างบาปผู้เชื่อในนามพระตรีเอกภาพคือพระบิดา พระบุตรและพระจิต

Lk 3: 16 ท่านยอห์นประกาศว่าผู้ที่มาภายหลังท่านนั้นจะทำพิธีล้างด้วยพระจิตและไฟ

Jn 3: 5 พระเยซูเจ้าสนทนากับนิโคเดมุสยืนยันถึงความจำเป็นของคนเราที่ต้องเกิดใหม่ในพระจิต

Jn 3: 22 พระเยซูเจ้าเสด็จไปนอกเขตยูเดียและทำพิธีล้างบาป ท่านยอห์นก็ทำพิธีนี้ด้วยในเขตเอนอนก่อนที่ท่านจะถูกจับและถูกตัดศีรษะ

Jn 4:2 บรรดาศิษย์ของพระเยซูทำพิธีล้างมากกว่าพระเยซูเอง

Ac 2:38 นักบุญเปโตรหรือเซ็นต์ปีเตอร์ ยืนยันว่าทุกคนจะต้องรับพิธีล้างบาปในพระนามของพระตรีเอกภาพเพื่อรับการอภัยโทษบาปและรับพระจิตเจ้า

Rom 6:1-11 นักบุญเปาโลหรือเซ็นต์พอลกล่าวถึงความสำคัญของพิธีล้างบาปและการมีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้าผ่านทางพระเยซู

1 Cor1:14 เซ็นต์พอลพูดถึงปัญหาของคริสตชนที่กลับใจใหม่แต่ยังแตกแยกกันและท่านบอกว่าดีที่ท่านไม่ได้ทำพิธีล้างมากนัก คงจะเป็นปัญหาว่าคนที่รับพิธีแล้วก็ยังไม่เข้าใจความหมายและไม่พยายามเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่เหมือนคนที่เกิดใหม่ในพระเจ้า

พิธีเจิมพระจิต(Confirmation)

Mk: 1:10 เมื่อพระเยซูเจ้ารับพิธีล้าง พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ในรูปนกพิราบและมีเสียงจากฟ้าสวรรค์ว่า ท่านคือบุตรสุดที่รักของเรา เราพอใจในท่านมาก...

Lk 4:17-21 พระเยซูเจ้าในศาลาธรรม มีคนยื่นม้วนหนังสือพระคัมภีร์ให้พระองค์อ่าน พระองค์อ่านตอนที่ยกมาจาก หนังสือประกาศกอิสยาห์ว่า พระจิตได้เสด็จลงมายังพระองค์และเจิมพระองค์เพื่อให้พระองค์ไปประกาศข่าวดีแก่คนยาจน....(อสย61.1-2) การเจิมด้วยพระจิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการแต่งตั้งคนหนึ่งคนใดไปทำภารกิจของพระเจ้า

Lk 12:12 พระองค์เตือนใจคนที่ถูกเบียดเบียนว่าไม่ต้องกลัว พระจิตเจ้าจะเป็นผู้สอนเองว่าจะพูดอย่างไรในสถานการณ์นั้นๆ

Lk 24:49 ก่อนพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ พระองค์ได้มอบพระจิตให้แก่บรรดาศิษย์ตามที่พระบิดาสัญญาไว้และสั่งให้เขาอยู่ในเมืองก่อนจนกว่าพวกเขาจะได้รับอำนาจจากเบื้องบนอย่างสมบูรณ์

Jn 16:5-15 พระเยซูเจ้ากล่าวว่าเมื่อพระองค์ไปแล้ว พระจิตเจ้าหรือองค์ผู้บรรเทาซึ่งพระองค์ใช้คำว่า Paraclete จะเสด็จมาสอนพวกศิษย์แทนพระองค์

Ac 1:5 พระเยซูเจ้าบอกว่ายอห์นทำพิธีล้างด้วยน้ำ แต่ต่อไปพวกศิษย์จะรับการล้างด้วยพระจิตเจ้า

Ac 1:8 พวกศิษย์จะได้รับอำนาจของพระจิตเจ้าและพวกเขาจะกลายเป็นพยานยืนยันถึงพระเยซูเจ้า

Ac 8:14-17 เซ็นต์ปีเตอร์และเซ็นต์ยอห์น ไปทำพิธีปกมือส่งพระจิตให้แก่ชาวสะมาเรีย

Ac 19:1-8 เซ็นต์พอลถามชาวเอเฟซัสว่าพวกเขารับความเชื่อทางพิธีล้างของยอห์นแล้วนั้นได้รับพิธีรับพระจิตด้วยหรือเปล่า พวกเขาตอบว่า เปล่า เซ็นต์พอลจึงบอกว่าจำเป็นที่ต้องรับพิธีล้างในนามของพระเยซูเจ้าและได้ทำพิธีปกมือส่งพระจิตแก่พวกเขา

Heb 6:2 ผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวถึงภารกิจของท่านคือการสอนความเชื่อในพระเจ้า สอนเกี่ยวกับพิธีล้างบาป สอนเกี่ยวกับการปกมือส่งพระจิต สอนเรื่องการกลับคืนชีพจากความตายและการตัดสินพิพากษาชั่วนิรันดร์ (จะเห็นได้ว่าพิธีส่งพระจิตนั้นสำคัญยิ่งในการประกาศพระข่าวดีของพระเยซูเจ้า)

1 Jn 2:20 ผู้เขียนจดหมายนี้กล่าวถึงเงื่อนไข 4 ประการในการดำเนินชีวิตในแสงสว่างและกล่าวว่าพวกเขาได้รับการเจิมด้วยพระจิตแล้ว

พิธีอภัยบาป (Penance)

พิธีนี้จะเกี่ยวข้องกับอำนาจที่พระเยซูเจ้ามอบให้แก่อัครสาวกในการอภัยบาป ในธรรมเนียมคาทอลิกผู้ที่ได้รับอำนาจนี้คือพระสันตะปาปา พระสังฆราช พระสงฆ์(บาทหลวง) โดยอำนาจนี้จะมอบผ่านทางพิธีบวชซึ่งมีการปกมือเหนือผู้รับ ในยุคแรกนั้นคนที่จะเป็นผู้นำกลุ่มคริสตชนก็ได้รับการปกมือมอบอำนาจนี้ ในปัจจุบันนี้คนที่จะเป็นผู้นำจะต้องได้รับการฝึกอบรมและเตรียมตัวนาน เรียนรู้วิชาการต่างๆมากเป็นต้นเทววิทยาและปรัชญา มีหลักสูตรในทางคาทอลิกที่ชายหนุ่มที่ต้องการเป็นสงฆ์ต้องผ่านขึ้นตอนการเรียนและอบรมในบ้านเณรหรือมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 7 ปี ผมจะไม่ขอกล่าวถึงความหมายของพิธีนี้ในแง่เทววิทยาแต่จะยกข้อความจากพระคัมภีร์มาอ้างเท่านั้นเองเพื่อจะให้เห็นว่าเหตุใดฝ่ายคาทอลิกถึงให้ความสำคัญกับพิธีอภัยบาปมากเพราะเป็นมรดกที่พระเยซูเจ้าเองมอบให้กับอัครสาวกของพระองค์

Mt 16:19 กล่าวถึงเรื่องการประกาศความเชื่อของเซ็นต์ปีเตอร์ และพระเยซูเจ้าได้กล่าวกับเขาว่า ท่านคือเปโตร(ซึ่งแปลว่าแผ่นหิน)และบนแผ่นหินนี้พระองค์จะสร้างพระศาสนจักรซึ่งประตูนรกจะไม่มีวันเอาชนะได้ นอกนั้นพระองค์ยังบอกว่าจะให้กุญแจของอาณาจักรสวรรค์แก่เปโตร อะไรที่ท่านผูกบนโลกนี้ที่สวรรค์ก็จะผูกด้วย อะไรที่แก้บนโลกนี้ที่สวรรค์ก็จะแก้ด้วย เป็นคำพูดที่หมายถึงการมอบอำนาจอภัยโทษบาปแก่เปโตร

Mt 18: 18 อีกครั้งหนึ่งพระองค์กล่าวถึงการแก้ไขข้อบกพร่องของพี่น้องและได้สำทับว่าอะไรที่สาวกผูกบนโลกนี้ก็จะผูกในสวรรค์ด้วย ...หมายถึงอำนาจการอภัยโทษบาปที่บรรดาอัครสาวกได้รับนั่นเอง

Lk 15:11-32 คำอุปมาเรื่องลูกล้างผลาญที่ทำผิดเพียงใดแต่เมื่อกลับมาหาบิดาด้วยใจสำนึกผิด บิดาก็พร้อมที่จะยกโทษให้เสมอ พระศาสนจักรเช่นกันพร้อมที่จะให้อภัยความผิดของทุกคนหากเขากลับใจ

Lk 19: 10 เป็นเรื่องของพระเยซูเจ้ากับซัคเคียสคนตัวเตี้ย เขาได้เชิญพระองค์ไปทานอาหารที่บ้านเขา พระองค์บอกว่าความรอดมาถึงเขาแล้วเพราะพระองค์มาหาและช่วยคนที่หลงทางไป ในความหมายคือนำคนบาปให้กลับมาในทางที่ถูกต้องนั่นเอง สิ่งที่เขาได้ทำผิดไปได้รับการอภัยเสมอหากเขาเพียงหันกลับมาหาพระองค์

Jn 20: 21-23 หลังจากที่ได้กลับคืนชีพแล้วพระเยซูเจ้าได้เสด็จมาในห้องที่บรรดาอัครสาวกรวมกันอยู่และพระองค์ทรงมอบพระจิตให้แก่พวกเขาและบอกว่าหากพวกเขาอภัยบาปใครบาปผู้นั้นก็จะได้รับการอภัยหากพวกเขาหน่วงเหนี่ยวบาปผู้ใด บาปผู้นั้นก็จะถูกหน่วงเหนี่ยวไว้ด้วย เป็นการมอบอำนาจอภัยบาปแก่อัครสาวกที่ชัดเจน

1Jn 1:9 ผู้เขียนจดหมายยอห์นฉบับนี้กล่าวถึงเงื่อนไขของการเดินในแสงสว่างคือต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนบาปและเขาต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือพระเจ้าถึงจะอภัยบาปและปลดปล่อยพวกเขาจากมลทิน

1Jn 5:16-17 กล่าวถึงการภาวนาเพื่อขอพระเจ้าอภัยบาปผิดของพี่น้อง ยังแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจธรรมชาติของบาปว่ามีบาปหนักที่ร้ายแรงอันนำไปสู่ความรายและบาปเบาซึ่งเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง จากพื้นฐานนี้เองเทววิทยาเกี่ยวกับบาปในธรรมเนียมคาทอลิกจึงแบ่งบาปออกเป็นบาปหนักและบาปเบา บาปหนักนั้นจำต้องไปขอขมาพระเจ้าผ่านทางพระสงฆ์ ส่วนบาปเบานั้นไม่จำเป็นเพียงแต่ชดเชยด้วยกิจการดีต่างๆแทนก็ได้รับการอภัยจากพระเจ้าเช่นกัน ความผิดที่จะกลายเป็นบาปหนักนั้นมีเงื่อนไขคือ เป็นข้อผิดร้ายแรง บุคคลนั้นรู้ดีว่าร้ายแรง และเขาเต็มใจที่จะกระทำบาปนั้น เงื่อนไขสามประการนี้ยังใช้พิจารณาว่าบาปใดเป็นบาปหนักหรือเบาในธรรมเนียมคาทอลิก

พิธีเจิมคนไข้ (Anointing of the sick)

การเจิมด้วยน้ำมันมะกอกเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาในอดีตยาวนาน น้ำมันมะกอกเป็นเครื่องหมายของการชูกำลัง ในธรรมเนียมชาวยิว ก็ใช้น้ำมันมะกอกเจิมเพื่อแต่งตั้งการเป็นสงฆ์ ประกาศก การเจิมจึงเป็นสิ่งที่ทำเรื่อยมาในพระศาสนจักรยุคแรกด้วย ในกลุ่มคริสตชนเมื่อมีคนหนึ่งคนใดไม่สบาย ผู้นำก็จะเอาน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ไปเจิมโดยเชื่อว่าพระจิตเจ้าจะชูกำลังของเขาให้หายจากการเจ็บไข้ได้ ธรรมเนียมนี้มีหลักฐานในพระคัมภีร์แน่นอนกล่าวคือ Mt. 10: 1,8 พระเยซูเจ้าทรงเรียกสาวกทั้งสิบสองมาแล้วมอบอำนาจให้แก่พวกเขาไล่ผี รักษาโรคร้ายและความเจ็บไข้ทั้งหลาย ให้รักษาคนป่วย ให้คนตายคืนชีพ รักษาคนเป็นโรคผิวหนังให้หายและไล่ผี Mk 6:13 บรรดาศิษย์จึงออกไปประกาศข่าวดีและรักษาคนไข้อีกทั้งขับไล่ผีร้ายและได้เจิมคนป่วยมากมายด้วยน้ำมันและรักษาพวกเขา Mk 7:32-36 กล่าวถึงการรักษาคนหูหนวกและเป็นไบ้ของพระเยซูเจ้า ธรรมเนียมการรักษาเช่นนี้จึงตกทอดมายังอัครสาวกด้วย Mk 16:18 กล่าวถึงอำนาจของสาวกที่ได้รับ พวกเขาจะสามารถรักษาคนป่วย จับงูพิษ ดื่มยาพิษไม่เป็นอันตราย ปกมือรักษาคนป่วยได้ (ใครที่ไม่มีความเชื่อขอแนะนำอย่าลองเรื่องนี้) Lk 6:12-13 บรรดาศิษย์ได้ออกไปตามหัวเมืองต่างๆ ประกาศพระวรสารและไล่ผี เจิมน้ำมันคนป่วยรักษาไข้ Jn. 9:6-7 กล่าวถึงตอนที่พระเยซูเจ้ารักษาคนตาบอดที่สระสิโลอัม(ไม่ใช่ด้วยน้ำมันแต่ด้วยน้ำลายปนดิน) Jas 5:14-15 ท่านยากอบบอกว่าเมื่อมีคนป่วยให้ไปหาผู้อาวุโสของหมู่คณะและขอให้เขาเจิมคนป่วยด้วยน้ำมันในพระนามของพระเยซูเจ้า ท่านกล่าวอีกว่าการภาวนาด้วยความเชื่อจะช่วยรักษาคนป่วยให้หายและหากเขาได้ทำบาปอะไรก็ให้เขาสารภาพบาปนั้นต่อกันและกันและภาวนาเพื่อกันและกัน

Lk6:12-16 พระเยซูเจ้าทรงเลือกสาวก 12 คนมอบอำนาจให้พวกเขาและส่งไปทำงาน

Lk 10:1-20 พระเยซูเจ้าทรงตั้งสาวกเพิ่มอีก 72 คน

Jn 21:15-17 พระเยซูเจ้าถามเปโตรถึงสามครั้งว่ารักพระองค์หรือเปล่า และพระองค์สั่งให้ดูแลและเลี้ยงดูฝูงแกะและแพะของพระองค์ หมายถึงดูแลพระศาสนจักรนั่นเอง หน้าที่ของสงฆ์คือดูแลฝูงชุมพาของพระเจ้า

Ac 6: กล่าวถึงการเลือกสังฆานุกรขึ้นมาดูแลคริสคชนชาวกรีกเลือกได้สเตเฟน ฟิลิป โปร คุส นิคานอร์ ติมอน ปาร์เมนัส และนิโคเลาแห่งอันติโอ๊ค จากนั้นก็ได้ขอให้อัครสาวกทำพิธีปกมือเหนือพวกเขา

็Heb 3:1-10 กล่าวถึงพระเยซูเจ้าในฐานะมหาสงฆ์

Heb 4:15 กล่าวถึงบทบาทของพระเยซูเจ้าว่าเป็นสงฆ์สูงสุดหรือมหาสงฆ์

Heb 10:22 เช่นกันกล่าวถึงพระเยซูเจ้าเป็นเช่นมหาสงฆ์

Rev: 1:6 กล่าวถึงพระศาสนจักรเป็นดังอาณาจักรของสงฆ์ผู้รับใช้พระเจ้า

Rev: 5:10 กล่าวถึงภาพนิมิตของหมู่สงฆ์และกษัตริย์ของพระเจ้าที่ปกครองโลก

Rev: 20:6 กล่าวถึงหมู่คนที่จะได้ร่วมในการกลับคืนชีพพวกเขาจะเป็นสงฆ์ของพระเจ้าและพระคริสต์

พิธีสมรส (Matrimony)

ในธรรมเนียมคาทอลิกถือว่าพิธีสมรสนั้นเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ แม้พระเยซูเจ้ามิได้แต่งตั้ง การสมรสเกิดจากการประกาศร่วมชีวิตกันระหว่างชายหญิงโดยเข้าใจดีถึงความรับผิดชอบที่จะตามมา การสมรสเป็นพันธสัญญาและได้รับการยอมรับว่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ในธรรมเนียมคาทอลิกตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 การสมรสมีมาตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ในโลกนี้ เป้าหมายของการสมรสคือสืบเผ่าพันธุ์และสร้างครอบครัว พระพรของพระเจ้าจะเกิดกับคู่สมรสทุกคู่ พระเยซูเจ้าเองได้เสริมเงื่อนไขใหม่แก่การสมรสคือให้เป็นพันธสัญญาถาวร ห้ามการหย่าร้าง ดังนั้นเราจะเห็นว่าพิธีสมรสนั้นแม้ไม่ได้เกิดบนฐานของพระคัมภีร์เพราะการสมรสมีมาก่อนพระคัมภีร์จะได้รับการบันทึก กระนั้นก็ตามเราก็พบการยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของการสมรสในพระคัมภีร์ด้วยคือ

Mt 5:32 พระเยซูเจ้ากล่าวว่าใครหย่าร้างภรรยาก็ทำบาปผิดและใครแต่งงานกับคนที่หย่าร้างก็ทำบาปผิดประเวณีด้วยเช่นกัน

Mt 19:9 กล่าวถึงใครที่หย่าร้างภรรยาก็ทำบาปผิดประเวณี

Mk 10:11-12 กล่าวถึงการหย่าร้างและไปแต่งงานกับคนหย้าร้างก็ผิดประเวณี

Lk 16:18 ความหมายอันเดียวกันคือการแต่งงานแท้นั้นหย่าร้างไม่ได้และใครแต่งงานกับคนหย่าร้างก็ทำผิดประเวณี

Jn. 2:1-11 กล่าวถึงพระเยซูเจ้าที่งานเลี้ยงแต่งงานที่เมืองคานา

Eph 5:21-27 กล่าวถึงคำแนะนำการอยู่ร่วมกันของสามีภรรยาให้เคารพกันและกันโดยให้พระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลาง สามีต้องรักภรรยา ออกจากบิดามารดาไปตั้งครอบครัวใหม่

Col 3:18-21 กล่าวถึงชีวิตครอบครัว สามีภรรยารักกันและกัน ลูกๆเชื่อฟังบิดามารดา

Tt 2:4-5 คำแนะนำให้สามีภรรยารักกันและกันและดูแลบุตรของตนอย่างดี

1 Pt 3:7 แนะนำสามีให้ดูแลภรรยาอย่างดี ให้เกียรติแก่นางและนางมีสิทธิ์เท่าเทียม


สรุป

ในธรรมเนียมคาทอลิกมีความพยายามที่จะปฏิรูปอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากการทำสังคายนาต่างๆเรื่อยมาตลอดสองพันปีเมื่อถึงคราวจำเป็นและพระจิตเจ้านำ คาทอลิกเชื่อว่าพระเยซูเจ้าอยู่กับพระศาสนจักรตลอดเวลา พระจิตของพระองค์จะคอยนำทางพระศาสนจักรไปในทางที่ถูกต้อง เมื่อท่านลูเทอร์และนักปฏิรูปสายอื่นๆจุดชนวนการปฏิรูปจนกลายเป็นการแตกแยกครั้งใหญ่ในพระศาสนจักรในศตวรรษที่ 16 นั้น พระศาสนจักรคาทอลิกนอกจากจะพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองแล้วยังพยายามเรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการกลับคืนมาอยู่ในฝูงชุมพาเดียวกันอยู่เสมอดังจะเห็นได้จากความพยายามของพระสันตะปาปาแต่ละองค์ที่พยายามทำการเสวนาเพื่อนำความเป็นหนึ่งเดียวกลับคืนมา

การเสวนานี้มิได้กระทำเพียงระหว่างคาทอลิกกับพี่น้องโปรแตสแตนท์เท่านั้นแต่ระหว่างคาทอลิกกับพี่น้องออร์โธด๊อกซ์ ยิว และพี่น้องในศาสนาอื่นด้วยเพื่อสร้างสันติในโลก ฝ่ายคาทอลิกถือว่าการปฏิรูปใดๆต้องไม่ทำร้ายหลักการของความเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ผู้นำที่สืบทอดรับอำนาจมาจากอัครธรรมทูต การแตกแยกเป็นความปวดร้าวของคริสตชนทุกคนที่รวมกันเป็นพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้า (Mystical Body)


เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่า การแตกแยกนั้นจะว่าไปก็มีมาตั้งแต่ครั้งที่พระเยซูเจ้ายังมีชีวิตอยู่แล้ว ความชิงดีกันระหว่างศิษย์เอง การแสวงหาความยิ่งใหญ่ที่ไม่สอดคล้องกับจิตตารมณ์ของคำสอนของพระองค์ บางครั้งอำนาจการเมือง ความอ่อนแอของมนุษย์เองหรือแม้แต่ความศรัทธาที่สุดโต่งเองก็ล้วนมีส่วนทำให้หลงทาง ก่อให้เกิดความแตกแยกและความปวดร้าวในพระกายทิพย์ของพระองค์


ฝ่ายปฏิรูปหลายคนอาจจะมองคาทอลิกว่าเป็นผู้ร้าย คนเลว คนที่ไม่เดินตามพระคัมภีร์และพระวจนะของพระคริสตเจ้า เรายอมรับว่าเราผิดพลาดได้ในเรื่องเหล่านี้ดั่งที่บรรพชนของเราเคยผิดพลาด ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านอัครสาวกเปโตรเองก็ผิดพลาดปฏิเสธพระอาจารย์เจ้าถึงสามครั้ง แต่แล้วท่านก็กลับใจ แน่นอนในหลายเรื่องคาทอลิกผิดพลาดได้เพราะความอ่อนแอประสามนุษย์ อันนี้เรายอมรับและขออภัย


ถ้าหากพี่น้องโปรแตสแตนท์ยังมองว่าเราเป็นคนร้ายอยู่เหมือนเดิม ก็ขอให้ถือว่าเราเป็นคนร้ายที่พยายามกลับใจก็แล้วกันนะครับและโปรดอธิษฐานเพื่อเราด้วย


เอ๊ะ.. แล้วคาทอลิกมองโปรแตสแตนท์อย่างไรล่ะ? ไม่ขอวิจารณ์...เพราะบิดากำลังรอคอยการกลับมาของน้องผู้นี้อยู่ทุกวัน (Lk 15:11-31)